นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะนโยบายและมาตรการทางด้านวัฒนธรรม ปัจจุบันกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มียุทธศาสตร์การดำเนินงานเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมอย่างมีเป้าหมาย มุ่งเน้นการป้องกันและการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่สังคมมากกว่าการแก้ไขพฤติกรรม หรือความเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ยิ่งในยุคข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดน สถานการณ์ของสังคมในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากเด็กและเยาวชนไม่มีภูมิคุ้มกันในการเลือกรับกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารอาจเกิดผลในทางไม่เหมาะสม อาทิ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้เกิดชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ทั้งเรื่องวิธีคิด วิธีเรียนรู้ วิธีสื่อสาร โดยเฉพาะการสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือ การเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตได้สะดวก ซึ่งอาจได้รับข้อมูลทั้งดีและ ไม่เหมาะสม การกลั่นแกล้งหรือรังแกกันในโลกออนไลน์ (Cyber Bullying) หรือการเผยแพร่ข่าวปลอม (Fake News) ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และต่อภาพลักษณ์ประเทศ
ปลัด วธ. กล่าวต่อไปว่า ล่าสุด วธ. ได้เปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการสร้างและขยายเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ภายใต้โครงการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 : การขับเคลื่อนกิจกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้เด็กและเยาวชนทั่วประเทศกว่า 1,150 คน ได้เรียนรู้ข้อมูลด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ประกอบด้วย
1) การสร้างและขยายเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม
2) การประกวดคลิปวิดีโอ “Young เป็นไทย วัฒนธรรมวิถีใหม่ของวัยรุ่น”
3) การนำผลงานของเด็กและเยาวชนมาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ โดยผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ และสื่อโทรทัศน์ ถือเป็นการเปิดพื้นที่แสดงออกทางความคิดในมุมมองของคนรุ่นใหม่ สะท้อนถึงปัญหาสังคม วิธีการเรียนรู้ สร้างความเข้าใจ อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข รวมไปถึงการสืบสานงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง สังคมและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ประเทศ ที่สำคัญเด็กและเยาวชนได้ทำกิจกรรมรู้เท่าทันสื่อ สร้างภูมิคุ้มกันของสังคมในมิติทางวัฒนธรรม เกิดการขยายเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่อันจะนำไปสู่การแจ้งเตือนภัยสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
“การขับเคลื่อนกิจกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในรูปแบบออนไลน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากสื่อไม่สร้างสรรค์ครั้งนี้ วธ.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเด็กและเยาวชน จะมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อการใช้สื่อดิจิทัลอย่างปลอดภัย สร้างสรรค์ รู้เท่าทันประเด็น ปัญหาเชิงวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากสื่อฝึกกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์ วิพากษ์ ทดลอง เปรียบเทียบการใช้สื่ออย่างรู้เท่าทันและมีวิจารณญาณ ร่วมกันทำกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมในการใช้สื่อดิจิทัลและเพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันของสังคม ที่สำคัญรู้จักใช้สื่อดิจิทัลในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ในแต่ละภูมิภาค ในมิติทางวัฒนธรรมให้กับเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ตลอดจนสามารถการขยายเครือข่าย เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมในพื้นที่ให้มากขึ้น ก่อให้เกิดสังคมรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล และการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ปลัด วธ. กล่าว