พช. จับมือ กฟผ. รวมพลัง “บวร” เปิดศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเอามื้อสามัคคี “โคก หนอง นา พช.” ปักต้นกล้า วิถีนาถิ่นอีสาน ณ เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี

วันที่ 29 มิถุนายน 2564 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เขื่อนสิรินธร ตำบลนิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย อำเภอสิรินธร จังหวัด อุบลราชธานี

นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานพิธีเปิดศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กฟผ. เขื่อนสิรินธร” และร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ปักต้นกล้า วิถีนาอีสาน ตามแนวทางของโครงการพัฒนพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” โดยได้รับความเมตตาจากเจ้าคุณพระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ ของกรมการพัฒนาชุมชน และผู้เชี่ยวชาญในด้านพลังงานแสงอาทิตย์ระดับประเทศ ที่ให้การสนับสนุนงานพัฒนาชุมชนตลอดมาตามหลัก “บวร” หรือ บ้าน วัด ราชการ ตลอดจน ผู้บริหารจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดและอำเภอ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ผู้นำชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีฯและร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ในครั้งนี้

ในส่วนของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ได้มอบหมายให้ นางสาววิจิตร หลงชิน ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี นางสาวญาดาภา หอมหวล พัฒนาการอำเภอสิรินธร พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) เข้าร่วมกิจกรรมฯ ภายใต้ความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย 7 หน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนและสืบสานศาสตร์พระราชา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก ในครั้งนี้ด้วย

สำหรับการจัดตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตให้สามารถเป็นวิทยากร หรือ “ครูพาทำ” ให้กับชุมชน ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ของตนเองและพื้นที่ใกล้เคียง สามารถลงมือปฏิบัติในการจัดการตามหลักกสิกรรมธรรมชาติได้อย่างครอบคลุม และเป็นศูนย์ ให้ความรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่แก่ชุมชนและภาคีเครือข่ายรอบพื้นที่ กฟผ.และใกล้เคียง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ( กฟผ.) เขื่อนสิรินธร เป็นหนึ่งใน 7 เขื่อนพระนาม ได้จัดเตรียมความพร้อมพื้นที่และฐานการเรียนรู้ตามแนวทางกสิกรรมธรรมชาติศาสตร์พระราชา บนเนื้อที่ 80 ไร่ รองรับผู้เข้าเรียนรู้ 50 คน/รุ่น มีฐานการเรียนรู้ 9 ฐาน ได้แก่ ฐานคนมีน้ำยา ฐานคนมีไฟ ฐานคนเอาถ่าน ฐานสัตว์น้ำครั้วเรือน ฐาน รักษ์แม่ธรณี ฐานคนรักดิน ฐานป่าคือชีวิต ฐานเสียดายแดด และฐานรักแม่โพสพ รวมถึงการเพิ่มฐานเรียนรู้อื่นในอนาคต เพื่อให้มีความพร้อมเป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับการฝึกอบรมพัฒนาให้กับภาคีเครือข่ายและประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้ความเข้าใจในการประยุกต์ใช้ศาสตร์พระราชาเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมชุมชนในพื้นที่

โอกาสนี้ นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เปิดเผยว่า “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ดำเนินการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก ภายใต้โครงการ 7 เขื่อนพระนาม 3 โรงไฟฟ้า มุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีส่วนในการพัฒนาพลังงานในพื้นที่ตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยการบูรณาการผ่านแนวคิดการพัฒนาในรูปแบบ โคก หนอง นา มุ่งพัฒนาคน สร้างองค์ความรู้ สู่เป้าหมายด้วยเครือข่ายเข้มแข็ง โดยความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กระทรวงพลังงาน มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ Earth Safe Foundation ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บริษัท เอามื้อสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก โดยคำนึงถึงแนวทางตาม “ศาสตร์พระราชาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคงด้านน้ำ อาหาร พลังงาน และสร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ทั้งนี้ เขื่อนสิรินธร ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ 7 เขื่อนพระนาม ได้ดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กฟผ. เขื่อนสิรินธร” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างต้นแบบขยายผลการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชา ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการจัดการดิน น้ำ ป่า โดยมีเป้าหมายให้ชุมชนในพื้นที่โดยรอบ กฟผ.มีความรู้ความเข้าใจหลักกสิกรรมธรรมชาติ สามารถนำองค์ความรู้ถ่ายทอดและพัฒนายกระดับความเป็นอยู่ในชุมชน” ประธานในพิธีกล่าว

ขณะที่ นางสาววิจิตร หลงชิน ผู้แทนพัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ได้กล่าวถึงภารกิจของกรมการพัฒนาชุมชน โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” และโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อบูรณาการการแผนงานโครงการและการปฏิบัติงานร่วมกัน โดยเสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานขับเคลื่อนฯ ที่มีตัวแทนจากหน่วยงานและชุมชน ร่วมกำหนด Road map แผนปฏิบัติการ อีกทั้งการจัดเวทีให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการพัฒนาศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของ กฟผ. เขื่อนสิรินธร ให้เกิดเป็นรูปธรรมและชุมชนได้ประโยชน์ในอนาคตต่อไปด้วย

อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี และ สพอ.สิรินธร ภาพข่าว/รายงาน