กรมควบคุมโรค เชิญชวนคนในชุมชนร่วมค้นหาจุดเสี่ยงหรือจุดอันตรายบนท้องถนนในพื้นที่ เพื่อเตือนประชนชนและลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เชิญชวนคนในชุมชนร่วมค้นหาจุดเสี่ยงหรือจุดอันตรายบนท้องถนนในพื้นที่หรือหมู่บ้าน เพื่อเตือนประชนชนและลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 นี้  พร้อมแนะนำ 3 แนวทางในการปรับปรุงจุดเสี่ยง ทั้งการกำจัดปัญหาให้หมดไป การทำปัญหาให้เห็นเด่นชัด และการกำหนดมาตรการ

วันที่ 26 ธันวาคม 2561 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงจุดเสี่ยงหรือจุดอันตรายต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน คือตำแหน่งที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง มีการบาดเจ็บ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูง โดยอาศัยสถิติการเกิดอุบัติเหตุเป็นดัชนีในการกำหนด ส่วนใหญ่เกิดในทางโค้ง ทางแยก จุดกลับรถ บริเวณสภาพถนนที่มีความบกพร่อง โดยใช้ความถี่ของการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนคนเจ็บ คนเสียชีวิต บ่งบอกถึงความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุในจุดนั้น

สำหรับวิธีแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยง เมื่อทราบปัญหาที่มาจากปัจจัยเรื่องถนนและสิ่งแวดล้อม ขั้นตอนต่อไป คือ การนำเสนอข้อมูลจุดเสี่ยงที่ได้จากการวิเคราะห์ ในการประชุมระดับต่างๆ ทั้งท้องถิ่น อำเภอ และจังหวัด เพื่อเสนอปัญหาจุดเสี่ยงเพื่อร่วมกันหารือข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขต่อไป โดยมี 3 แนวทางในการปรับปรุงจุดเสี่ยง  ดังนี้ 1.การกำจัดปัญหาให้หมดไป เช่น การปิดจุดกลับรถ เคลื่อนย้ายวัตถุอันตรายออกจากพื้นที่ การสร้างจุดกลับรถที่ปลอดภัย ทำวงเวียน ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม เป็นต้น  2.การทำปัญหาให้เห็นเด่นชัด ทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเห็นปัญหา เพื่อเตือนผู้ขับขี่ให้รู้ปัญหาล่วงหน้า เช่น ทาสีสะท้อนแสงที่วัตถุอันตรายให้เห็นชัดเจน การติดตั้งป้ายเตือน การติดตั้งสัญญาณไฟ การทำให้ทัศนวิสัยดีขึ้น เป็นต้น  3.การกำหนดมาตรการ เพื่อปรับพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ การห้ามย้อนศร ห้ามกลับรถ เป็นต้น

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 ที่จะมาถึงนี้ กรมควบคุมโรค ชวนชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้นำชุมชน ตำบล/หมู่บ้าน ช่วยกันค้นหาจุดเสี่ยงหรือจุดอันตรายเป็นท้องถนนในพื้นที่ และแก้ปัญหาของจุดเสี่ยงในเบื้องต้นในชุมชน โดยการทำให้จุดนั้นเห็นเด่นชัดขึ้น เพื่อเตือนผู้ใช้รถใช้ถนนให้        รู้ความเสี่ยงล่วงหน้า หรือบริเวณทางข้างหน้ามีความเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การติดตั้งป้ายเตือน ปักธงแดง ทาสีสะท้อนแสงที่วัตถุ ทำสัญลักษณ์เตือนให้เห็นเด่นชัด โดยกรมควบคุมโรคได้จัดทำข้อมูลด้านวิชาการสนับสนุนการจัดการแก้ไขจุดเสี่ยงเบื้องต้นให้ชุมชนนำไปใช้ประโยชน์ได้  สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค 0 2590 3889 หรือที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

**********************************************

ข้อมูลจาก : สำนักโรคไม่ติดต่อ / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค