ร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช. ดร.พะโยม ชินวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช. และดร.วรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน.ได้มอบนโยบายการดำเนินงานการจัดการศึกษานอกระบบและการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ให้แก่ สำนักงาน กศน.จังหวัดภูเก็ต ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมีบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมบรรจง ชูสกุลชาติ ชั้น 6 อาคารสำนักงาน กศน. โอกาสนี้ได้รับฟังรายงานผลจากผู้บริหารสำนักงาน กศน.จังหวัดภูเก็ต การเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาในการเปิดภาคเรียน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคโควิด -19 และการส่งเสริม สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล โครงการ Phuket Sandbox ที่จะเปิดเมืองการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ซึ่ง นางคนึงนิจ เกตุแก้ว ผอ.กศน.จังหวัดภูเก็ต ได้รายงานว่าขณะนี้บุคลากรของสำนักงาน กศน.จังหวัดภูเก็ต ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว ร้อยละ 98 ของบุคลากรทั้งหมด การเตรียมความพร้อมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีทั้งหมดทั้ง 5 รูปแบบ ได้แก่On – Site, On – air, On – demand, On – line, On – hand และได้จัดเตรียมความพร้อมด้านอาคารสถานที่ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข สำหรับการจัดการศึกษาต่อเนื่อง โดยได้ทำหลักสูตรการทำเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ผลิตกากผ้าอนามัย ทำสายคล้องหน้ากากอนามัย การสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารด้านอาชีพ ฯลฯ รวมถึงได้ร่วมกับจังหวัดภูเก็ตและทุกภาคส่วนในการเปิดโรงครัวสนาม และรับบริจาคสิ่งของ เพื่อให้การสนับสนุนบริการแก่บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ และจิตอาสา ศูนย์ฉีดวัคซีน และด่านคัดกรองโรคโควิด – 19 ด้วย โดยขณะนี้ กศน.จังหวัดภูเก็ต ได้จัดทำโครงการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น การหุงข้าว ด้วยกระทะใบบัวและเมนูอาหารจานด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และได้เสนอของบประมาณไปยังคณะรัฐมนตรีเมื่อคราวประชุม ค.ร.ม.สัญจร ณ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งขณะนี้ทราบในเบื้องต้นว่าจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณดังกล่าว ซึ่งโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Phuket : City of Gastronomy
ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวชื่นชมผู้บริหาร และบุคลากรที่ร่วมด้วยช่วยกัน และมีความเข้มแข็งเป็นที่ยอมรับของประชาชน และแสดงความห่วงใยถึงบุคลากรชาว กศน.จังหวัดภูเก็ตทุกท่าน และได้ให้ความสำคัญในเรื่องการดูแลตัวเองของทั้งบุคลากร การให้ความรู้กับนักศึกษาในการลดความเสี่ยงจากโควิด – 19 และเพื่อให้ กศน.ร่วมเป็นพลังสำคัญในการเปิดเมืองภูเก็ตที่มีแรงงานต่างๆ เริ่มกลับเข้าสู่จังหวัด ประชากรหลายคนเริ่มมองหาอาชีพใหม่ มองหาช่องทางทำมาหากิน สำนักงาน กศน.จังหวัดภูเก็ตจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือประชาชน โดยได้เน้นย้ำว่าการจัดการศึกษาที่ดีขอให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งต้องพัฒนาครูให้สามารถสอน Active learning เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายและสร้าง แรงบันดาลใจให้แก่ผู้เรียน ต้องให้มีการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ การนำเสนอสื่อที่หลากหลาย เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เรียน ที่สำคัญต้องใช้ห้องสมุดเป็นแหล่งการเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัย รองรับนักท่องเที่ยว รองรับ Phuket Sandbox สำหรับการสอนอาชีพต้องมีอะไรที่แปลกใหม่ ต้องทำให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ต้องทำให้เห็นภาพว่าหลังจาก กศน.เข้าไปสอนในชุมชนแล้ว ชุมชนมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น มีฐานะ ความเป็นอยู่ในชีวิตดีขึ้น โดยทำในรูปแบบการจัดการศึกษาอาชีพครบวงจร ใช้ทรัพยากรท้องถิ่นและเป็นไปตามบริบทพื้นที่ ทำให้ชุมชนเห็นว่า กศน.อยู่กับคุณ คุณมีชีวิตที่มีความสุขขึ้นคุณคิดถึง กศน. เพราะ กศน. ทำเพื่อประชาชน เป็นมิติที่ กศน.อยู่เคียงข้างประชาชน และที่สำคัญที่ลืมไม่ได้คือกลุ่มเป้าหมายผู้พิการ ขอให้สอนอาชีพที่สามารถทำได้และเหมาะสม เช่น การพับผ้าในโรงแรม อีกทั้งให้ข้อแนะนำในการสำรวจนักศึกษาที่ต้องการความช่วยเหลือในด้านเครื่องมือสื่อสาร และสัญญาณอินเทอร์เน็ต เพื่อการแก้ปัญหาในการเข้าถึงการศึกษาสำหรับคนที่ยากจนและสมควรได้รับการสนับสนุน
ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอชื่นชมพี่น้อง กศน. ชาวจังหวัดภูเก็ต ที่ได้นำนโยบายไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและให้กำลังใจในการปฏิบัติงาน พร้อมกันนี้จะให้มีการสำรวจนักศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีความขาดแคลนเครื่องมือสื่อสาร และสัญญาณอินเทอร์เน็ต โดยจะมีดำเนินการสำรวจนักศึกษา กศน.ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือในโอกาสต่อไป ดร.วรัท กล่าวในที่สุด