ภายใต้การอำนวยการของนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสิรินธร ติดตามสนับสนุนและนำเสนอผลการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” แปลงตัวอย่างที่โดดเด่น (Best Practice) ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอีกหนึ่งขั้นหนึ่งของชาว “โคก หนอง นา พช.” อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ณ ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of life : HLM ระดับครัวเรือน ของนางปาณิสรา นามโคตร บ้านสุ่งช้าง หมู่ที่ 8 ตำบลคันไร่ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
โดยครัวเรือน นางปาณิสรา นามโคตร เป็นครัวเรือนสมัครใจเข้าร่วมตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” และได้ดำเนินการปรับพื้นที่ ขนาด 3 ไร่ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 โดยสนับสนุนให้มีการบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขุดรูปแบบโคก หนอง นา โมเดล (บ่อน้ำ หลุมขนมครก คลองใส้ไก่ ร่องน้ำ และนา) ได้มีการปลูกไม้ 5 ระดับ การทำนาอินทรีย์ และเลี้ยงหอย เลี้ยงปลาในบ่อน้ำ และคลองไส้ไก่ ซึ่ง การเลี้ยงหอยนา หอยขม หอยโข่ง หอยเชอรี่ ในคลองไส้ไก่นั้น ปัจจุบันเกิดผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ ทำให้ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น เฉลี่ยเดือนละ 20,000 – 30,000 บาท ซึ่งจุดเด่นของครัวเรือนนี้ คือสามารถใช้ช่องทางการตลาดในชุมชน และขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ทำให้มีออร์เดอร์สั่งชื้อเป็นจำนวนมาก และกำลังขยายเครือข่ายไปยังครัวเรือน HLM อื่นๆ ในพื้นที่ให้มีการเลี้ยงเพิ่มมากขึ้นให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด
เจ้าของแปลงเปิดเผยว่า “ในบ่อ คลองไส้ไก่ มีหอยเต็มไปหมดเลย มีปลานิล ปลาตะเพียน บ่อนี้เพิ่งขุดเสร็จ ตนอยากได้มานานแล้ว แต่เราไม่มีเงินที่จะขุดบ่อ โชคดีมีคลองใส้ไก่ด้วย ต้องขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชนที่ช่วยต่อยอดความฝันของตนได้ เดิมพื้นที่ตรงนี้ก็ทำนา เดี๋ยวแล้ง เดี๋ยวท่วม ราคาก็ไม่แน่นอน เคยปลูกมะลิ ก็ไปไม่รอด มีวันหนึ่งด้านหลังที่ดินแปลงนี้มีห้วยเล็กๆ ตนไปเก็บหอยขาย แล้วราคามันได้ดี ขายแม่ค้าส้มตำ ก็เลยคิดว่าอยากมีบ่อ มีสระน้ำ ตอนนั้นก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะได้แต่คิด แต่ไม่มีเงิน ตอนที่กรมพัฒนาชุมชนประกาศให้คนอยากทำโคก หนอง นา ทราบข่าวรีบไปอำเภอเลย รอมานาน ตอนนี้ตนมีรายได้ตกเดือนละประมาณ 25,000 ถึง 30,000 แต่เพิ่งเริ่มทำนะขายผักบ้าง พันธุ์บ้าง แต่ส่วนใหญ่ขายหอย มีหอยเชอรี่ กิโลกรัมละ 20 บาท หอยจุ๊บกิโลกรัมละ 50 บาท ส่วนหอยนากิโลกรัมละ 120 บาท คนแถวนี้มารับซื้อทุกวันทั้งชาวบ้านและแม่ค้าส้มตำ เราขายพันธุ์หอยด้วย ปลา หอยตามทุ่งนา ลำห้วย แถวนี้หาไม่ได้แล้ว เพราะคนทำนาใช้แต่สารเคมี ตนเน้นขายออนไลน์ ออเดอร์มีทุกวัน และส่งขายทั่วประเทศ”
นางปาณิสรา บอกต่ออีกว่า “ตอนนี้กรมพัฒนาชุมชน เขาขุดบ่อให้ประชาชนทั่วประเทศเป็นหมื่น ๆ บ่อ เลยมีคนทำโคก หนอง นา มากมาย ตนเป็นคนแรกที่ทำหอยแบบนี้ ขายแม่พันธุ์ด้วย ซึ่งหอยที่พี่เห็นใส่ไว้ในตะกร้านั่นคือ ส่งขาย ธรรมชาติของหอยหากเลี้ยงประมาณ 4 เดือนก็เก็บได้ ส่วนในตระกร้าเขาก็จำศีลเขาอยู่ได้ 2-3 เดือนเลยทีเดียว คาดหวังว่าเราเป็นคนแรกที่ขายหอย ในยุคนี้ทำโคก หนองนา เยอะ โดยต่อไปจะส่งพันธุ์หอยไปทั่วประเทศด้วย สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณรัฐบาล และกรมการพัฒนาชุมชนด้วย ที่มอบโอกาสดี ๆ แบบนี้ให้กับประชาชน”
วันนี้ ครัวเรือนคุณปาณิสรา นามโคตร ถือเป็นต้นแบบในการดำเนินงานโคก หนอง นา พช. และสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจหรือ Best Practice ของจังหวัดอุบลราชธานีได้ ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่แปลง มีการทำนา ปลูกพืชผักสวนครัว และเลี้ยงหอย เพื่อต่อยอดและพัฒนาผลผลิตไปสู่ OTOP ประเภทอาหาร โดยเฉพาะเมนูหอย เช่น หอยนึ่งสมุนไพร หอยย่างน้ำจิ้ม และบรรจุภัณฑ์แบบสูญญากาศออกสู่ตลาดแล้ว สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสิรินธร หมายเลขโทรศัพท์ 081-616-5592 หรือเจ้าของแปลง คุณปาณิสรา นามโคตร หมายเลขโทรศัพท์ 090-243-8356
อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี…ภาพข่าว/รายงาน