ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล สำนักงาน กศน. เปิดเผยว่า ขณะนี้ สำนักงาน กศน. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการจิตอาสาของสำนักงาน โดยได้น้อมนำพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานการขับเคลื่อนโครงการ ดังกล่าว โดยมุ่งพัฒนาทักษะพื้นฐานให้แก่ผู้เรียนในแต่ละด้านตามความถนัดของตน
ขณะเดียวกันกิจกรรมยังส่งผลให้เกิดความรักชาติ ความรักสามัคคี สร้างจิตสำนึก สร้างอุดมการณ์ สร้างระเบียบวินัย สามารถเป็นผู้นำในการประสานความร่วมมือ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ชุมชนและประชาชนในพื้นที่ และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์วิกฤติและภัยพิบัติให้แก่ผู้เรียนและประชาชนในพื้นที่ได้ รวมถึงสำนักงาน กศน. ยังมุ่งหวังว่าการขับเคลื่อนงานจะทำให้ข้าราชการ บุคลากร รวมถึงผู้เรียนได้ทราบถึงประวัติศาสตร์ชาติไทย ภูมิใจและตระหนักในความสำคัญของพระมหากษัตริย์ไทย และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) และจิตอาสาพัฒนา การบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม
ทั้งนี้โครงการจิตอาสาของสำนักงาน กศน. ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมโดยให้สำนักงาน กศน.จังหวัด/กรุงเทพมหานคร จำนวน 77 แห่งจัดอบรมหลักสูตรจิตอาสาของสำนักงาน กศน. (ระยะเวลา 2 วัน) จำนวน 12 ชั่วโมง เป้าหมายผู้เข้ารับการอบรมเป็นบุคลากร ซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงานราชการ บุคลากร และผู้เรียนในสังกัดสำนักงาน กศน. จำนวน 130 คน/แห่ง รวม 10,010 คน และดำเนินการขยายผลโครงการจิตอาสาของสำนักงาน กศน. โดยผู้เข้ารับการอบรมต้องนำความรู้ด้านจิตอาสาที่ได้รับมาส่งเสริม ขยายผลไปสู่ผู้เรียน และชุมชนในพื้นที่ ในรูปแบบ 2 กิจกรรม ดังนี้
1.การประกวดการขยายผลโครงการจิตอาสาประจำปี 2564 ได้แก่
1) ชุมชนจิตอาสาดีเด่น เน้นทำได้จริงและขยายผล โดยนำความรู้มาส่งเสริม ขยายผลให้ชุมชนในพื้นที่ดำเนินการ ผลการดำเนินงานเป็นที่ประจักษ์ มีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนได้รับความรู้ ความเข้าใจ มีจิตสาธารณะ นำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาจัดกิจกรรม รวมทั้งงานด้านจิตอาสา มีการดำเนินงานด้านจิตอาสา และสามารถเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการจิตอาสาชุมชน
2) ผู้นำชุมชนจิตอาสาดีเด่น เน้นการกระตุ้นให้ประชาชนรู้จักช่วยตนเอง และเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้านของตน ริเริ่มและสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนา ช่วยเหลือ สนับสนุน การดำเนินงานตามแผนงานโครงการหรือกิจกรรมพัฒนาหมู่บ้าน ประสานงานระหว่างองค์กรประชาชนกับหน่วยงาน รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่เวทีประชาคม คณะกรรมการหมู่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล หรือทางราชการมอบหมาย และต้องดำเนินการถอดบทเรียนจากองค์ความรู้ของชุมชนจิตอาสาดีเด่น/ผู้นำชุมชน จิตอาสาดีเด่นเพื่อสะท้อนถึงกระบวนการเรียนรู้ที่มีผลต่อการรับรู้ทัศนคติ ความเข้าใจ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ ซึ่งเป็นภาพสรุปประสบการณ์ในการทำงานที่เป็นอยู่ และสามารถเผยแพร่ศึกษาเรียนรู้ได้
2.การแข่งขันขับร้องบทเพลงพระราชนิพนธ์ (กศน.ชาเลนจ์) ประจำปี 2564 โดยให้สถานศึกษาคัดเลือกผู้เรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาสังกัด ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยให้ครูที่ผ่านการอบรมหลักสูตรจิตอาสาเป็นที่ปรึกษาและผู้ควบคุม โดยกิจกรรมการจัดให้ดำเนินการตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิค-19 ) และบริบทของพื้นที่ ซึ่งสามารถจัดแบบออนไลน์หรือon-site ขึ้นอยู่กับการพิจารณาตามความเหมาะสม และรายงานผลการดำเนินงานโดยให้ส่งคลิปการทำกิจกรรมในรูปแบบที่หลากหลายหรือ Tiktok
ทั้งนี้ได้มีการกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการ แบ่งเป็น 4 ช่วงเวลา ได้แก่
ระดับสำนักงาน กศน.จังหวัด/กรุงเทพมหานคร จำนวน 77 แห่ง ดำเนินการภายในเดือน พฤษภาคม ถึง 18 มิถุนายน 2564
ระดับกลุ่มสำนักงาน กศน.จังหวัด จำนวน 18 แห่ง ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 30 มิถุนายน 2564
ระดับสถาบัน กศน.ภาค จำนวน 5 ภาค ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือน กรกฎาคม 2564
ระดับประเทศ เสร็จสิ้นภายในเดือน สิงหาคม 2564 โดยผู้ชนะเลิศแต่ละรางวัล/ประเภท จะได้เข้าร่วมศึกษาดูงาน ณ โคก หนอง นา โมเดล กรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กรักษาพระองค์ หรือมีแหล่งศึกษาดูงานอื่นในพื้นที่ให้พิจารณาขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
เลขาธิการ กศน. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้โครงการจิตอาสาของสำนักงาน กศน. ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลการดำเนินการอบรมหลักสูตรจิตอาสาของสำนักงาน กศน. มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 11,286 คน ซึ่งสำนักงาน กศน.สามารถดำเนินการได้เกินเป้าหมายที่กำหนด และขยายผลอยู่ในขั้นตอนของการจัดเวทีแสดงผลงานระดับกลุ่มสำนักงาน กศน. ซึ่งสำนักงาน กศน.จังหวัด/กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ชนะเลิศในแต่ละรางวัล/ประเภทส่งให้กลุ่มสำนักงาน กศน.จังหวัดดำเนินการคัดเลือกต่อไป ซึ่งสำนักงาน กศน. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดังกล่าวจะตอบสนองนโยบายและส่งผลให้บุคลากร ผู้เรียน และประชาชนที่เข้าร่วมในโครงการเป็นจิตอาสาต้นแบบ เป็นตัวอย่าง เป็นกําลัง และเป็นแกนนําในการสร้างอุดมการณ์ สร้างจิตสํานึก สร้างระเบียบวินัย สามารถเป็นผู้นําสําคัญในการประสานความร่วมมือกับเครือข่ายในการจัดกิจกรรมอาสาในพื้นที่ และรู้จักการเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เกิดการสร้างความสามัคคีในชุมชนที่ยั่งยืนต่อไป