พ่อเมืองพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี “โคก หนอง นา พช.” ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ ชาวบ้านเผย! ช่วยแก้แล้ง แก้ท่วม และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

วันที่ 23 มิถุนายน 2564 นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายฤทธิสรรค์ เทพพิทักษ์ นายอำเภอพิบูลมังสาหาร นางพัชรินทร์ ธรรมสาร พัฒนาการอำเภอพิบูลมังสาหาร เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ผู้นำชุมชน และครัวเรือนเป้าหมาย ร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ตำบลไร่ใต้ และตำบลนาโพธิ์ อำเภอพิบูลมังสาหาร

กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มีภารกิจหลักในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้การมีส่วนร่วมของประชาชนโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางโดยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและหลักทฤษฎีใหม่มาใช้ในชีวิตและการพัฒนาหมู่บ้านหรือชุมชนโดยได้ดำเนินโครงการนำร่องกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆทั้ง 7 ภาคีได้แก่ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคมวลชน ในการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่อายุสู่โคกหนองนาโมเดล และได้ขยายผลความสำเร็จเพื่อสร้างเพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็งขึ้น

สำหรับกิจกรรมในพื้นที่อำเภอพิบูลมังสาหาร ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ในการน้อมนำแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ชนบท ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และแนวคิดทฤษฎีใหม่เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความสุข ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริมาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม การพึ่งพาตนเอง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการตนเองและชุมชนให้มีความสุขได้อย่างยั่งยืน

โดยเวลา 10.00 น นายฤทธิสรรค์ เทพพิทักษ์ นายอำเภอพิบูลมังสาหาร และคณะจากอำเภอพิบูลมังสาหาร พร้อมด้วย ส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ในเขตตำบลไร่ใต้ และตำบลนาโพธิ์ ร่วมกันเอามื้อสามัคคี แปลงโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ปีงบประมาณ 2564 ของนางวริษา คูณผล ขนาด 3 ไร่ บ้านไร่กลาง หมู่ที่ 5 ตำบลไร่ใต้ โดยมีกิจกรรมการเอามื้อสามัคคี ประกอบด้วย ปลูกต้นไม้ในแปลงพื้นที่ต้นแบบ คือ ไม้ 5 ระดับ ไม้สูง เช่น ต้นพะยุง ต้นยางนา ต้นประดู่ ไม้กลาง เช่น ต้นมะม่วง ต้นมะขาม ต้นขนุน ไม้เตี้ย เช่น พริก มะเขือ มะนาว พืชเรี่ยดิน เช่น ปลูกเมล็ดฝักทอง บวบ พืชหัวใต้ดิน เช่น เผือก ข่า ตะไคร้ และกิจกรรมห่มดิน หลังจากการปลูกไม้ 5 ระดับแล้ว ได้ร่วมกันห่มฟางแก่ต้นไม้รวมทั้งใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพเพื่อสร้างความชุ่มชื้นและสร้างจุลินทรีย์ในดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น จากนั้น เวลา 12.30 น. นายฤทธิสรรค์ เทพพิทักษ์ นายอำเภอพิบูลมังสาหาร พร้อมด้วยส่วนราชการ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ ผู้นำชุมชนและภาคีเครือข่าย ได้รับประทานอาหารร่วมกันเพื่อแสดงความรักสามัคคีระหว่างภาคราชการและประชาชนด้วย

โอกาสนี้ นายอำเภอพิบูลมังสาหาร ได้พบปะกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมว่า “ขอชื่นชมการดำเนินงานเอามื้อสามัคคีในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชุมชนถิ่น และการช่วยเหลือเกื้อกูล โดยในอนาคตพื้นที่แห่งนี้ จะเป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาชุมชนให้มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนในชุมชนมีความรักสามัคคี เป็นสังคมแห่งความเกื้อกูล เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ซึ่งเป็นน้อมนำเอาแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาสืบสาน รักษา ต่อยอด และสามารถประยุกต์ใช้ได้จริงในการพึ่งตนเองและสร้างทางรอดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผมมุ่งหวังให้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” และโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” นั้น จะเป็นการจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ ซึ่ง โคก หนอง นา เป็นการที่ให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเองโดยมี มนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้มันสำเร็จเร็วขึ้น อย่างเป็นระบบ ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โอกาสนี้ กับให้กำลังใจทีมงานพัฒนาชุมชนอำเภอพิบูลมังสาหารทุกคนที่ทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ ในวันนี้” นายฤทธิสรรค์ กล่าวด้วยความยินดี

ขณะที่ นางวริษา คูณผล เจ้าของแปลงฯ เปิดเผยว่า “โครงการโคก หนอง นา พช. ซึ่งดำเนินการโดยกรมการพัฒนาชุมชน นอกจากจะช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และพึ่งตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมอีกด้วย โดยเมื่อปีที่ผ่านมา ตำบลไร่ใต้แห่งนี้ ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างหนักในรอบหลายสิบปี พอมาถึงปีนี้ หลายพื้นที่ กลับประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน หากเราไม่เตรียมพร้อมรับมือให้ดี ภาคการเกษตรจึงย่อมฟื้นตัวจากความเสียหายได้ยาก แต่ใช่ว่าเราจะหมดหนทาง เพราะยังมีแนวพระราชดำริ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในการจัดการพื้นที่ ด้วยโคก หนอง นา ที่ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะน้ำท่วม หรือว่าน้ำแล้งก็ช่วยให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” เจ้าของแปลงกล่าวอย่างมีความสุข หลังเข้าร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี

อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี และ สพอ.พิบูลมังสาหาร ภาพข่าว/รายงาน