นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานปิดการสัมมนาก่อนจบหลักสูตร “การจัดกิจกรรม กศน. ป้องกันภาวะซึมเศร้า คงสมรรถนะทางกาย จิต และสมองของผู้สูงอายุ” แบบออนไลน์ รุ่นที่ 2 ณ อาคารโรงเรียนพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยมีวิทยากร ได้แก่ ผศ.พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร รศ.พญ.ดาวชมพู นาคะวิโร คุณพลินท์ชฎา พัชราพิสิฐกุล และคุณจารุณี วิทยาจักษุ์ ให้การต้อนรับ
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า ในนามกระทรวงศึกษาธิการ ขอแสดงความขอบคุณคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ที่ร่วมมือและสนับสนุนสำนักงาน กศน.อย่างเต็มที่ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผน ร่วมแก้ปัญหา แม้ในการจัดสัมมนาก่อนจบหลักสูตรครั้งนี้ จะจัดในรูปแบบออนไลน์ เพื่อปรับให้เข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิค-19 ระลอกใหม่ แต่ทุกคนก็แสดงให้เห็น ความร่วมมือร่วมใจของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ เพื่อพวกเราชาว กศน.
ซึ่งเป็นที่ทราบกันดี ถึงความจำเป็นของการจัดอบรมหลักสูตรนี้ เกิดจากการที่ประเทศไทยเป็น “สังคมสูงอายุ” มีผู้สูงอายุจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มวัยอื่น ๆ ด้วย ที่ต้องเผชิญกับความเหงา หดหู่ ซึมเศร้า เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายถาโถมเข้ามา จนชีวิตคนไทยเริ่มเปราะบางมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงนำประเด็นนี้สู่การพัฒนากิจกรรมของ กศน. สอดคล้องกับภารกิจของ กศน. โดยดึงศักยภาพการทำงานในพื้นที่ นำความชำนาญและเชี่ยวชาญในการจัดกิจกรรม กศน.ให้มีความหลากหลาย เข้าถึงประชาชนและสร้างไว้วางใจเพิ่มขึ้น เพราะพวกเราเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญร่วมสร้าง “สังคมสูงอายุสุขภาวะ”
“การจัดสัมมนาครั้งนี้ ทำให้เห็นพัฒนาการของโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2563 ที่ได้มาร่วมหารือ ร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์ ความคาดหวังของการร่วมมือกันในการผลักดันบทบาทของครู กศน. ในการจัดกิจกรรมป้องกันภาวะซึมเศร้าในพื้นที่ ซึ่งเริ่มเป็นปัญหาวิกฤติเข้าทุกที ทั้งความไม่เข้าใจระหว่างวัย ความเครียดระดับครอบครัวขยายวงกว้างออกไป จนกลายเป็นปัญหาของชุมชน สังคม และประเทศ ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทุกคนต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้าน มากไปกว่าปัญหาปากท้องทางเศรษฐกิจ ก็ยังมีความเบื่อ ความเหงา ความเศร้าซึม ที่อาจจะสะสมจนทำให้หมดพลังชีวิต หากพวกเราชาว กศน. จะนำความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนประสบการณ์จากวิทยากรอันทรงคุณค่า ไปต่อยอดกับทุนเดิมที่มีอยู่ ในเรื่องของทักษะความเชี่ยวชาญในการจัดกิจกรรมนันทนาการ การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย การเป็นที่รักและไว้วางใจของผู้คนในชุมชนทั่วไทย
ขอแสดงความชื่นชมความสำเร็จ ทั้งในส่วนของคณะผู้จัดการอบรม ผู้เข้ารับการอบรมทุกทุกคน นับเป็นความรู้สึกดี ๆ ที่เรามีร่วมกัน เป็นการสนับสนุนให้นโยบาย กศน.WOW ของครูโอ๊ะ ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ทั้งในเรื่องของเครือข่ายการทำงานที่ดี Good Partnership ที่ได้เครือข่ายร่วมกันสร้าง Good Teacher คือชาว กศน.ที่เข้ารับการอบรมทุกคน เพื่อไปสร้าง Good Activity ในกิจกรรมลดภาวะซึมเศร้าง คงสมรรถนะทางกาย จิต และสมองของผู้สูงอายุ ที่จะทำให้เกิด Good place กระจายไปยังทุกพื้นที่ ท้ายสุด ขอฝากหลักการทำงาน (P D C A) สู่ความสำเร็จ ประกอบด้วย มีใจรัก มีศรัทธา และเชื่อมั่นต่อสิ่งที่เราทำมีความเพียร ความมุ่งมั่นทุ่มเท มีจิตใจที่จดจ่อและรับผิดชอบในสิ่งที่พวกเราทำ มีการทบทวนในสิ่งที่เราได้คิดได้ทำ พัฒนาปรับปรุงอยู่เสมอ และหากมีโอกาสลงไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ก็จะไปเยี่ยมให้กำลังใจและติดตามการทำงานต่อไป” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
นวรัตน์ รามสูต :สรุป/เรียบเรียง
สถาพร ถาวรสุข :ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.:รายงาน
22/6/2564