วันที่ 18 มิถุนายน 2564 เวลา 09.00 น. ณ ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน (ศูนย์สารภีท่าช้าง) บ้านใหม่สารภี หมู่ที่ 3 ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี
นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรและพันธุ์ไม้ที่ใช้ย้อมสีธรรมชาติ (ย้อมผ้า) เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ประจำปี 2564 โดยมี นางกนกอร โพธิ์สิงห์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงานฯ นางเพ็ญพักตร์ ศรีทอง สมาชิกวุฒิสภาและประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดอุบลราชธานี นายธนัท ชายทวีป นายอำเภอสว่างวีระวงศ์ นางรัชดาวรรณ คำเอี่ยม พัฒนาการอำเภอสว่างวีระวงศ์ พัฒนาการอำเภอทุกคน พร้อมเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ คณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดอุบลราชธานี ตลอดจนกลุ่มองค์กรภาคีเครือข่ายงานพัฒนาชุมชน กลุ่มอาชีพ OTOP อาสาพัฒนาชุมชน/ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน และประชาชนจากพื้นที่ใกล้เคียง เข้าร่วมพิธีเปิดโครงการฯ และร่วมกิจกรรมโดยพร้อมเพรียงกัน
โครงการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรและพันธุ์ไม้ที่ใช้สำหรับย้อมสีธรรมชาติ (ย้อมผ้า) มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ประชาชน กลุ่มองค์กรภาคีเครือข่ายพัฒนาชุมชน ได้มีส่วนร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เพื่อให้ประชาชน กลุ่มองค์กรฯ ได้ร่วมใจกันแบ่งปันพืชสมุนไพรและพันธุ์ไม้ที่ใช้ย้อมสีธรรมชาติ (ย้อมผ้า) โดยส่งเสริมการนำสมุนไพรพื้นบ้านที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ OTOP และเพื่อเพิ่มพื้นที่แหล่งเรียนรู้การปลูกพืชสมุนไพรที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
ในส่วนของจังหวัดอุบลราชธานี โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ได้ดำเนินโครงการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน เป็นการรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นไทย มีการรณรงค์การใช้และสวมใส่ผ้าไทยผ้าพื้นเมืองเพื่อให้เกิดความยั่งยืน สร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการรณรงค์ระหว่างภาครัฐ เอกชนและประชาชน รวมทั้งจัดให้มีการอนุรักษ์และต่อยอดภูมิปัญญาการแปรรูปผ้าไทยผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และสร้างเศรษฐกิจฐานรากในระดับจังหวัดและชุมชนต่างๆ สำคัญที่สุด คือการได้สืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่พระราชทานพระดำรัสในงานวันสตรีไทย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 มีใจความว่า “พระองค์จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระพันปีหลวง” นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นต่อปวงชนชาวไทย โดยการอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าไทยศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงอยู่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และยังสนับสนุนส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ ให้กับกลุ่มสตรี และต่อยอดภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น ผ้าทอไทยทุกผืนเกิดจากการถักทอด้วยลมหายใจของผู้หญิง และสร้างรายได้ให้กับชุมชน
โอกาสนี้ นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ได้กล่าวในพิธีเปิดโครงการฯ ว่า “การส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรและพันธุ์ไม้ที่ใช้สำหรับย้อมสีธรรมชาติ (ย้อมผ้า) เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเป็นการร่วมใจกันแบ่งปันและบูรณาการนำกล้าไม้ประเภทพืชสมุนไพร และพันธุ์ไม้ ไม่น้อยกว่า 44 ต้น มาปลูกในพื้นที่ศูนย์สารภีท่าช้าง เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่แหล่งเรียนรู้การปลูกพืชสมุนไพรและต้นไม้ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์โดยเฉพาะสมุนไพรและพันธุ์ไม้ที่ให้สีธรรมชาติ สำหรับใช้ในการย้อมผ้า ซึ่งเป็นการนำสมุนไพรพื้นบ้านที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ในการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ OTOP อีกทั้ง ส่งเสริมให้ประชาชน กลุ่มองค์กรภาคีเครือข่ายได้มีส่วนร่วมเฉลิมพระเกียรติอันเป็นการถวายความจงรักภักดีและเป็นการเฉลิมพระเกียรติ แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ซึ่งเป็นการดำเนินกิจกรรมในห้วงเดือนมหามงคลเดือนมิถุนายน 2564 อีกด้วย”
นอกจากนั้น ในพิธีดังกล่าวยังได้จัดให้มีการเปิดตลาดสารภีท่าช้าง ในพื้นที่ศูนย์สารภีท่าช้าง โดย นางรัชดาวรรณ คำเอี่ยม พัฒนาการอำเภอสว่างวีระวงศ์ ได้เปิดเผยว่า “อำเภอสว่างวีระวงศ์ ได้รับการอนุมัติโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จำนวนทั้งสิ้น 121 แห่ง แยกเป็นพื้นที่ระดับตำบล จำนวน 2 แห่ง และพื้นที่ระดับครัวเรือน จำนวน 119 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งได้การดำเนินงานตามหลักทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จึงได้จัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ และกล้าไม้ ไว้แจกจ่าย ภายใต้ชื่อ “ตลาดสารภีท่าช้าง” ขึ้น ในวันนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากนายธนัท ชายทวีป นายอำเภอสว่างวีระวงศ์ ได้นำเครือข่ายธนาคารน้ำใต้ดิน มาเป็นภาคีเครือข่ายในการทำงานร่วมกับเครือข่าย โคก หนอง นา พช. อำเภอสว่างวีระวงศ์ เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตของครัวเรือนต้นแบบ และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) อีกด้วย”
อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน และงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ภาพข่าว/รายงาน