คปภ. ผนึกภาคธุรกิจประกันภัยร่วมถอดบทเรียนในอดีต เสริมสร้างเป็นภูมิคุ้มกันสำหรับอนาคต• ประชุมร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ระดมสมองร่วมสร้างมาตรการเชิงรุกขับเคลื่อนประกันภัยไทยยุคดิจิทัล

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่สร้างแรงสะเทือนต่อระบบประกันภัย โดยกรณีที่กระทบความเชื่อมั่นต่อระบบมากที่สุดก็คือการเพิกถอนใบอนุญาตบริษัทประกันภัย ซึ่งหากนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา พบว่ามีบริษัทประกันภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปแล้ว ทั้งสิ้น 10 บริษัท ซึ่งเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ แต่สำนักงาน คปภ. เองจำเป็นต้องมีความเด็ดขาดในด้านการบังคับใช้กฎหมาย และยึดถือผลประโยชน์และสวัสดิภาพของประชาชนผู้บริโภคเป็นสำคัญ เมื่อเราอยู่ร่วมกันในสังคมประกันภัย การรักษากฎกติกาจึงเป็นสิ่งที่สำนักงาน คปภ.ให้ความสำคัญอย่างมาก ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการจัดประชุมร่วมผู้บริหารระดับสูง สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัยเพื่อที่จะช่วยกันถอดบทเรียนจากความเจ็บปวด แล้วนำมาสร้างเป็นภูมิคุ้มกันสำหรับอนาคต ภายใต้ธีม “The Lessons learned on Pain Points for Insurance Sustainable Growth” ซึ่งคงเป็นคำขยายความที่มีความชัดเจนที่สุดถึงจุดประสงค์ของการประชุมในครั้งนี้เพื่อต้องการให้ภาคธุรกิจประกันภัยมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และมีมติร่วมกันว่าเราอยากให้ธุรกิจประกันภัยเดินต่อไปข้างหน้าในทิศทางไหนและอย่างไร โดยเลขาธิการ คปภ. เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม ณ ห้อง Salon B ชั้น 2 โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยประธานสภาธุรกิจประกันภัยไทย นายกสมาคมประกันชีวิตไทย นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทประกันภัย ผู้บริหารและพนักงาน สำนักงาน คปภ. จำนวนกว่า 150 คน

การประชุมร่วมกันในครั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้แจ้งความคืบหน้าให้ภาคธุรกิจประกันภัยได้รับทราบใน 4 เรื่อง เรื่องที่ 1 ประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต/วินาศภัย และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต/วินาศภัย นายหน้าประกันชีวิต/วินาศภัย และธนาคาร พ.ศ. 2561 เรื่องที่ 2 ผลประกอบการและการใช้จ่ายเพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน เรื่องที่ 3 แนวทางการตรวจสอบ ณ ที่ทำการบริษัทประกันภัย และในเรื่องที่ 4 ซึ่งเป็นไฮไลท์ของการประชุม เนื่องจาก สำนักงาน คปภ. ต้องการความคิดเห็นจากภาคธุรกิจประกันภัยที่จะร่วมกันถอดบทเรียนออกมาเป็นข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ว่านโยบายการกำกับดูแลของ สำนักงาน คปภ. จะช่วยให้ภาคธุรกิจประกันภัยเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร โดยรองเลขาธิการด้านตรวจสอบได้นำเสนอในเรื่อง “การตรวจสอบตนเองของบริษัทประกันภัยภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการตรวจสอบ”      ซึ่งมีการชี้แจงตั้งแต่สาเหตุของการหยุดชั่วคราวของธุรกิจประกันวินาศภัย การควบคุมบริษัทประกันชีวิตไปจนถึงการ เพิกถอนใบอนุญาตบริษัทประกันภัย พร้อมทั้งมาตรการที่ให้บริษัทประกันภัยตรวจสอบตนเองภายใต้การดูแลของคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทประกันภัย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวต่อด้วยว่าผลจากการประชุมระดมความคิดเห็นครั้งนี้ สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัยได้ร่วมกันสร้างมาตรการป้องกันในเชิงรุก 5Rs สรุปได้ดังนี้

 

  • สร้างความตระหนักรู้ (Realization) ถึงบทเรียนจากความล้มเหลวของธุรกิจ ซึ่งเป็นทั้งสัญญาณเตือนภัย และเกราะป้องกันไม่ให้บริษัทประกันภัยติดอยู่กับกับดักแห่งการแข่งขัน โดยภาคธุรกิจควรมีวินัยในตนเองมากขึ้น โดยยึดหลักสุจริตใจอย่างยิ่ง (Utmost Good Faith) ต่อกัน และกัน ซึ่งเป็นหลักปรัชญาของการประกันภัย

 

  • สร้างการกำกับดูแล (Regulate) อย่างมีส่วนร่วมระหว่าง สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจ ไปสู่การกำกับดูแลในเชิงส่งเสริมมากขึ้น เริ่มจากขั้นตอนการอนุมัติผลิตภัณฑ์ให้มีความรวดเร็วมากขึ้น โดยจะเพิ่มการทำ Automatic Filing ให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยมีการตรวจสอบตนเอง ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท

 

  • แสดงความยินดี (Rejoice) ที่บริษัทประกันภัยมีแนวโน้มค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจเพื่อความยั่งยืนในระยะยาวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เป็นการเพิ่มมูลค่าในด้านการให้บริการแก่ผู้เอาประกันภัย และค่าใช้จ่ายในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนคุณค่าของธุรกิจประกันภัย แต่อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าค่าใช้จ่ายในการขายกรมธรรม์ประกันภัย หรือ Acquisition costs ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ ค่าโฆษณา ค่านายหน้า ค่าบำเหน็จ สำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยยังคงมีค่อนข้างสูงอยู่ ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้ขอให้บริษัททุกแห่งกลับไปพิจารณาทบทวนนโยบายในเรื่องดังกล่าว เพื่อสร้างเสริมธุรกิจให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและอย่างยั่งยืนมากขึ้น

 

  • เตือนความจำ (Remind) ให้มีการเตรียมความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงมีความพร้อมต่อกฎระเบียบที่ออกมาให้สอดรับกับมาตรฐานสากล เช่น “ประกาศ คปภ. เรื่อง การเสนอขาย … พ.ศ. 2561” ซึ่งประกาศดังกล่าวกำลังจะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 โดยจะเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแล และส่งเสริมให้กระบวนการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งการกำกับดูแลจะมีทั้งในส่วนของ Hard Law และ Soft Law โดย Soft Law จะมีความยืดหยุ่น เปิดช่องให้มีการออกหลักเกณฑ์ที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลได้ดีกว่า

 

  • แนะนำ (Recommend) ให้บริษัทบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศตามมาตรฐานสากล โดยใช้การตรวจสอบระบบ IT หรือ IT Audit ของ สำนักงาน คปภ. เป็นตัวผลักดันให้บริษัทเร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติการด้าน IT ให้ทัดเทียมโลกยุคดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งในส่วนของ สำนักงาน คปภ. ก็จะมีการปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่การเป็น Digital Insurance Regulator อย่างเต็มรูปแบบเช่นกัน

“การจะสร้างให้ธุรกิจมีความเติบโตแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยทั้งการที่มีกฎระเบียบที่ดี ทุกคนอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน แต่การที่ธุรกิจจะเติบโตและยั่งยืนได้นั้นจะพึ่งพาแต่กฎระเบียบอย่างเดียวก็คงไม่ได้ เพราะไม่ว่าเราจะเขียนกฎหมายให้ดีแค่ไหน ก็คงไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกเรื่องหรือเหมาะสมกับทุกสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ส่วนสำคัญที่สุดสำหรับบริษัทประกันภัยในยุคนี้ คือการที่ทุกบริษัทมีวินัยในตนเอง (Self Discipline) นั่นคือธุรกิจจะต้องปฏิบัติ ในสิ่งที่ดี ที่ถูกต้องต่อประชาชนและสังคม มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมต่อตลาด ด้วยจิตสำนึกและทัศนคติของตัวธุรกิจเอง โดยไม่ต้องรอให้ สำนักงาน คปภ. มาตรวจสอบ หรือประชาชน ผู้มีส่วนได้เสียร้องเรียน   ซึ่งเรื่องนี้แม้จะมีการพูดถึงกันอย่างมากในภาคตลาดทุน แต่ในด้านของการประกันภัยแล้ว ความสำคัญในเรื่องนี้ไม่ได้ ยิ่งหย่อนไปกว่าภาคธุรกิจการเงินอื่นๆ หากธุรกิจประกันภัยมี Self Discipline และมี good governance ที่ดีก็สามารถเปลี่ยนจากการกำกับดูแลจาก rules – based เป็น principles – based ได้ไม่ยาก” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย