กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีถนนยางพาราเลียบคันคลองสายใหญ่ฝั่งขวาของฝายคลองน้ำแดง ที่เพิ่งสร้างเสร็จพังเป็นหลุมเป็นบ่อ ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร พื้นที่หมู่ที่ 6 ตำบลพรุเตียว อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ซึ่งก่อสร้างตามโครงการสนับสนุนการใช้ยางพาราของ คสช.และรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ แต่ปรากฏว่าหลังจากทำถนนเสร็จได้ประมาณ 1 เดือน พบว่าถนนเริ่มเป็นหลุมเป็นบ่อแล้ว นั้น
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ชี้แจงในกรณีดังกล่าวว่า ถนนเลียบคันคลอง สายใหญ่ฝั่งขวาของฝายคลองน้ำแดง ตำบลพรุเตียว อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ความยาวทั้งสิ้น 3.321 กิโลเมตร กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานกระบี่ ได้ถ่ายโอนภารกิจผิวจราจรให้กับทางองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)พรุเตียว เป็นผู้ดูแลและบำรุงรักษา ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 61 อบต.พรุเตียวได้มีหนังสือถึงโครงการชลประทานกระบี่ แจ้งว่าทางกองพันทหาร ช.402 ค่ายอภัยบริรักษ์ ได้เข้ามาดำเนินการก่อสร้างถนนยางพาราดินซีเมนต์ ถนนสายชลประทานฝั่งขวา หมู่ที่ 6 ตำบลพรุเตียว อำเภอเขาพนม เพื่อเป็นถนนขนส่งสินค้าทางเกษตร และเป็นทางสัญจรไปมาของราษฎรในพื้นที่ โดยดำเนินการตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค. – 4 พ.ย. 61 ก่อสร้างเป็นถนนยางพาราดินซีเมนต์ความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร
สำหรับแนวทางในการแก้ไขซ่อมแซมถนน นั้น ในวันนี้(21 ธ.ค. 61)เจ้าหน้าที่ทหารช่างจะดำเนินการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรและเครื่องมือต่างๆ เข้าไปบริเวณหน้างาน เพื่อเตรียมพร้อมในการรื้อผิวถนนช่วงที่มีปัญหาชำรุดเสียหาย ก่อนจะผสมส่วนผสมต่างๆตามอัตราส่วนของถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพาราตามที่ กรมทางหลวงกำหนดไว้ และเร่งซ่อมแซมให้ใช้งานได้ตามปกติโดยเร็วต่อไป
ส่วนที่มีข้อสังเกตเกี่ยวกับสีของดินลูกรัง ที่เป็นส่วนผสมหลักในการสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพารา ทางทหารช่างได้อธิบายว่า เนื่องจากดินลูกรังในแต่ละจังหวัด มีคุณลักษณะของสีที่แตกต่างกัน ทำให้ใช้อัตราส่วนผสม(Job Mix Formular)แตกต่างกัน แต่เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วลักษณะภายนอกที่เห็น เมื่อมองด้วยตาเปล่าก็จะเห็นสีของถนนเหมือนถนนดินลูกรังทั่วๆไปไม่แตกต่างกัน แต่จะแตกต่างกันที่ส่วนผสมภายในของวัสดุ และขั้นตอนการก่อสร้างเท่านั้น จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
***********************************
กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์