วันที่ 14 มิถุนายน 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ครัวเรือนของนายบุญฤทธิ์ รัศมีสมศรี เจ้าของแปลง พื้นที่ขนาด 1 ไร่ ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” ณ บ้านน้ำใส หมู่ที่ 7 ตำบลอินคีรี อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช
นายจรัญ อินทสระ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับการอนุมัติดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” จำนวน 8,870,000 บาท โดยมีกลุ่มเป้าหมาย พื้นที่เรียนรู้ชุมชน 139 แห่ง แบ่งเป็น พื้นที่ขนาด 1 ไร่ จำนวน 95 แปลง และพื้นที่ขนาด 3 ไร่ จำนวน 44 แปลง นอกจากนี้ ในส่วนของอำเภอพรหมคีรี มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 1 แปลง และพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 1 แปลง รวมทั้งหมด 2 แปลง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ในกิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” เป็นโครงการที่น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ในรูปแบบ โคก หนอง นา ส่วนแรก เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องคนไทย เพราะคนไทยส่วนใหญ่ทำไร่ ทำนา เป็นชาวไร่ ชาวสวนอยู่แล้ว ส่วนที่สอง โครงการฯ ได้มีส่วนส่งเสริมสิ่งที่พี่น้องประชาชนขาด นั่นก็คือ เรื่องงบลงทุน ในการที่จะขุดหนอง ทำคลองไส้ไก่ ปั้นโคก ต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนจึงทำให้พี่น้องประชาชนมีแหล่งกักเก็บน้ำ เป็นโอกาสที่ได้พัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่ง “โคก หนอง นา พช.” ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคี เพราะว่ากิจกรรมที่ดำเนินการใน 25,000 กว่าแปลงทั่วประเทศ เป็นกิจกรรมที่สร้างให้เกิดความร่วมมือ ที่เรียกว่า ‘เอามื้อสามัคคี’ หรือที่ทางใต้เรียกว่า ‘ออกปาก’ แปลงหนึ่งอย่างน้อยดำเนินการ 3 ครั้ง ก็จะทำให้สิ่งที่เราเรียกว่าความรักความสามัคคีจากความเหนื่อยยากได้ช่วยเหลือกัน พี่น้องประชาชนก็จะได้เอาวัฒนธรรมเก่า ๆ ที่บรรพบุรุษเราได้เคยทำไว้เป็นตัวอย่าง มีอะไรช่วยกัน ออกปากกัน มีข้าวก็หิ้วข้าวมา มีแกงก็หิ้วแกงมา ถ้าไม่มี เจ้าของพื้นที่ก็เลี้ยง และในส่วนที่สำคัญที่สุด คือ ชาวบ้านเห็นผลสำเร็จด้วยตาตนเองจากพื้นที่ดำเนินการมีความอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เขาจะมีความมั่นคงในคุณภาพชีวิต หากออกแบบพื้นที่ได้ดี เหมาะสมเพียงพอ ในพื้นที่ก็จะอุดมไปด้วยอาหารการกิน สามารถเลี้ยงดูชีวิตได้อีกมากมาย ทั้งนี้ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ฝากทิ้งท้ายถึงเรื่องการปลูกยางนา ในพื้นที่แปลงโคก หนอง นา ไว้ว่า การปลูกยางนามีประโยชน์หลายประการ เช่น การปลูกเพื่อประโยชน์ทางด้านนิเวศ ให้ร่มเงา กำบังลม ให้ความชุ่มชื้น ควบคุมอุณหภูมิในอากาศ ป้องกันการพังทลายของหน้าดิน เป็นไม้เนื้อแข็งใช้สร้างบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัยได้ และยังมีประโยชน์ด้านอื่นอีกมากมาย ซึ่งการปลูกต้นไม้ก็เหมือนการเอาเงินไปฝากสะสมไว้ในธนาคาร เพราะต้นไม้แต่ละต้นจะมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ สามารถเปลี่ยนเป็นเงินไว้ใช้ในยามจำเป็น โดยอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเสริมว่า การปลูกไม้หลากหลายพันธุ์ หลากหลายชนิดก็จะเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ ตามแนวทางโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) บนฐานทรัพยากร 3 ฐาน คือ ทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ ทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา
นายบุญฤทธิ์ รัศมีสมศรี เจ้าของแปลง ได้กล่าวขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชนที่เข้ามาขับเคลื่อนโครงการฯ ช่วยเหลือทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตนดีใจเป็นอย่างมากที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ และจากการที่ท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ท่านประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ตลอดจนผู้บริหารทุกท่านได้มาเยี่ยมชมพื้นที่ดำเนินงานโครงการฯ ในแปลงเล็ก ๆ ของตนนั้น รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งเป็นการสร้างขวัญกำลังให้กับผู้ปฏิบัติงาน ไม่เคยคาดคิดว่าจะมีผู้บริหารระดับสูงมาเยี่ยมและให้กำลังใจด้วยตนเอง รวมถึงได้ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ดำเนินการฯ ด้วยมือเปล่า ขณะปลูกก็ได้ชี้แนะวิธีการ หลักการที่เป็นความรู้ ตลอดจนได้ให้คำแนะนำในการพัฒนาต่อยอด ถือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับชาวบ้านอีกหลายคนที่เชื่อมั่นในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เราจะเห็นด้วยตาของตนเองไปพร้อม ๆ กันว่า “โคก หนอง นา พช.” สามารถทำให้ครัวเรือนเลี้ยงตนเอง เลี้ยงชุมชน จนสามารถทำให้ชุมชนมีความมั่นคงทางอาหาร แม้จะต้องตกอยู่ภายใต้สถานการณ์วิกฤตจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หลังจากนี้ 3 เดือน หากท่านอธิบดีกลับมาที่นี่อีกครั้ง จะเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยตนเองขอให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำให้พื้นที่แห่งนี้อุดมสมบูรณ์ แม้จะเป็นแค่หมู่บ้านเล็กๆ แต่ก็จะเป็นพลังในการช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงาน “โคก หนอง นา พช.” นครศรีธรรมราช รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับครัวเรือนอื่นๆ ต่อไป
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ในกิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” จะช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถฟื้นตัว และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เมื่อเทียบกับการลงทุนในด้านอื่นๆ ถือว่ามีความเสี่ยงที่น้อย แต่กลับได้ผลประโยชน์อย่างคุ้มค่าและทั่วถึงตามหลักทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นหลักประกันในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง พัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ยกระดับขีดความสามารถของชุมชนให้พึ่งตัวเองได้อย่างยั่งยืน
เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2565 Change for good
สถานีข่าวพัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช รายงาน