วันที่ 12 มิถุนายน 2564 ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ. นางตติยา ใจบุญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเผยแพร่ทางการศึกษา ร่วมประชุมหารือกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ในการเตรียมคาราวานวิทยาศาสตร์ และการจัดนิทรรศการเคลื่อนที่ ไปติดตั้งและแสดง ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ ในสังกัดสำนักงาน กศน.ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ 20 แห่ง โดยมี ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการ อพวช. ให้การต้อนรับ
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนขนาดใหญ่ไม่ไกลกรุงเทพฯ มีหน้าที่กระตุ้นและส่งเสริมสังคมไทยให้สนใจและเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ ประกอบไปด้วย พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ มากมาย อาทิ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ซึ่งพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดตั้งอยู่ ณ เทคโนธานี ถนนเลียบคลองห้า ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
รมช.ศธ. กล่าวว่า กศน.และ อพวช. เป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันในการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาตามอัธยาศัยนอกห้องเรียน ร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง กศน.มีครู และนักศึกษาอยู่ทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงชุมชนได้อย่างทั่วถึง การได้รับความร่วมมือจาก อพวช.ที่มีความพร้อมในเรื่องของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และสื่อวิทยาศาสตร์ที่ทรงคุณค่ามากมาย นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการที่จะมาช่วยเติมเต็มและสนับสนุนการจัดการศึกษา ของ กศน. ได้อย่างทั่วถึง ครบทุกมิติ และสัมฤทธิ์ผลดียิ่งขึ้น
ข้อหารือที่สำคัญในวันนี้คือการขยายโอกาสการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์สู่ชุมชน โดยการเตรียมคาราวานวิทยาศาสตร์ นิทรรศการเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นนิทรรศการที่สนุกสนาน และสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ตามอัธยาศัย ผ่านสื่อสัมผัสและกิจกรรมเสริมศึกษาที่หลากหลาย ของ อพวช. ซึ่งจะไปจัดแสดงหมุนเวียน ยังศูนย์วิทยาศาสตร์ ของ กศน. ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเติมเต็มและเพิ่มพื้นที่ในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในทุกช่วงวัย ให้กับนักศึกษา กศน. และประชาชนทั่วไป ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งผู้เรียนจะได้ฝึกทักษะและกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ และความบันเทิง ร่วมกันภายในครอบครัว ทำให้เกิดแรงจูงใจและสร้างจินตนาการ ด้านการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งนอกจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาแล้ว ทาง อพวช. จะปรับปรุงหลักสูตรในการฝึกอบรมความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ในการสร้างอาชีพใหม่ๆให้แก่ ครู กศน.เพื่อนำไปต่อยอด ในการจัดการศึกษาด้านวิชาชีพให้ แก่คนในชุมชน ให้สามารถสร้างงานสร้างรายได้จากกระบวนการคิดและการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ อาทิ การผลิตของเล่นวิทยาศาสตร์ จากวัสดุใกล้ตัว การสตัฟฟ์สัตว์เลี้ยงที่เรารัก การผลิตสีจากวัสดุธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งจะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน และประเด็นสำคัญสุดท้าย คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้แก่กลุ่มเป้าหมายพิเศษ เช่นเด็กออทิสติก ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าของประเทศเช่นกัน เด็กเหล่านี้มีความสามารถพิเศษที่หลากหลาย สามารถทำงานและหาเลี้ยงชีพได้ หากได้รับการเรียนรู้และการฝึกทักษะผ่านกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ จะสามารถกระตุ้นความคิดและเสริมสร้างจินตนาการ พัฒนาการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เด็กเหล่านี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่า และสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมปกติได้อย่างมีความสุข ซึ่งทาง อพวช. พร้อมที่จะจัดกิจกรรมการศึกษา และเป็นฐานในการเรียนรู้เริ่มต้นให้แก่กลุ่มเป้าหมายพิเศษนี้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเช่นกัน
ผศ.ดร.รวิน รวิวงศ์ ผอ. อพวช. กล่าวว่า การหารือ ในวันนี้เป็นการเพิ่มโอกาสให้ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอุดมศึกษา ฯ ได้ทำงานร่วมกันมากขึ้น โดยทาง อพวช. มีโอกาสในการขยายฐานกลุ่มเป้าหมาย ขยายงานและสร้างสังคมวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ กศน. ซึ่งมี ศูนย์วิทยาศาสตร์ 20 แห่งทั่วประเทศ โดยการนำความรู้ นิทรรศการ และกิจกรรมวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ไปจัดแสดง ซึ่งทำให้วิทยาศาสตร์ใกล้ชิดชุมชน สามารถเข้าถึง ประชาชนในทุกช่วงวัยได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่ท้าทายคือเรื่องของคาราวานวิทยาศาสตร์ ซึ่งปกติ กลุ่มเป้าหมายหลักคือเด็กนักเรียนในระบบ แต่จากการหารือ อพวช. ต้องพัฒนาคาราวานวิทยาศาสตร์ และปรับปรุงหลักสูตรฝึกอบรมต่างๆ เพื่อให้ตอบสนองกับนักศึกษา และครู กศน. ให้มากขึ้น ทั้งในรูปแบบ Online และ Onsite ซึ่งรวมถึงกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ผู้พิการ เด็กออทิสติกด้วย ถือได้ว่าเป็นมิติใหม่ที่ท้าทาย ของ อพวช. และเป็นความร่วมมือที่สามารถขยายผลต่อไปในอนาคตที่จะสร้างผลกระทบในเชิงบวกให้แก่ประเทศได้อย่างยิ่ง
…………………………
ปรานี บุญยรัตน์ : ข่าว / ภาพ