กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เผยสถานการณ์แรงงานปี 2561 ข้อพิพาทลดลง ลูกจ้างถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คาดการเลิกจ้างปี 62 ไม่รุนแรงอย่างที่กังวล พร้อมสั่งเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด
นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์ด้านแรงงาน ปี 2561 (วันที่ 1 มกราคม – 31 พฤศจิกายน 2561) ว่า ข้อพิพาทแรงงานในปี 2561 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีข้อพิพาทแรงงาน 44 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 37,830 คน ขณะที่ในปี 2560 มีข้อพิพาทแรงงาน 59 แห่ง ลูกจ้าง 57,425 คน ซึ่งได้ดำเนินการให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ เป็นเงิน 33,415 ล้านบาท สำหรับสถานการณ์การเลิกจ้างในปี 2561 พบว่าใกล้เคียง 2560 จากข้อมูลผู้ประกันตนมาตรา 33 พบว่าในปี 2561 มีการเลิกจ้าง 259,770 คน ขณะที่ปี 2560 มีการเลิกจ้าง 255,385 คน อย่างไร ก็ตามเมื่อพิจารณาจากข้อมูลผู้ประกันตนที่เข้าสู่มาตรา 33 กับผู้ที่ถูกเลิกจ้างพบว่ามีสัดส่วนไม่แตกต่างกัน โดยมีจำนวนลูกจ้างที่เข้าและออกจากระบบประกันสังคมเฉลี่ยประมาณ 2.3 หมื่นคนต่อเดือนเท่า ๆ กัน และเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลการเลิกจ้างตามประเภทกิจการ พบว่ากิจการที่มีการเลิกจ้างเพิ่มสูงขึ้น 3 อันดับแรก ได้แก่ เกษตรกรรม การผลิตเฟอร์นิเจอร์ และการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง
นายวิวัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มการจ้างงานในปี 62 ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอาจมีการเลิกจ้างเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในประเภทกิจการที่นำเทคโนโลยี หรือ AI เข้ามาทำงานแทนกำลังแรงงานมากขึ้น เช่น ธุรกิจอุตสาหกรรมทีวี ทีวีดิจิตอล ธุรกิจและจำหน่ายหรือให้เช่าซีดี ดีวีดี เป็นต้นนั้น คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นบ้าง ซึ่งจากการเฝ้าติดตามธุรกิจดังกล่าวอย่างใกล้ชิดโดยในเบื้องต้นพบว่านายจ้างที่มีปรับโครงสร้างกิจการหรือเลิกจ้างลูกจ้างส่วนใหญ่จะจัดทำโครงการสมัครใจลาออกและให้สิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้างสูงกว่าสิทธิประโยชน์ที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตามกสร. ได้ส่งเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นต่อไป