วันที่ 12 มิถุนายน 2564 ภายใต้การอำนวยการของ นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมาย นายบุญสม สีลาไหม พัฒนาการอำเภอเมืองอุบลราชธานี นางอัจฉรา ศรีทานันท์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ นายวิษณุพงษ์ กลิ่นแก้ว นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ลงพื้นที่สนับสนุนการดำเนินงานกิจกรรม เอามื้อสามัคคี” ณ แปลงนายประไพ มุขธรรม หมู่ที่ 10 ตำบลไร่น้อย อำเภอเมืองอุบลราชธานี และแปลงนางจินตนา พูลเพิ่ม บ้านพรานบุญ หมู่ที่ 13 ตำบลหนองขอน อำเภอเมืองอุบลราชธานี
จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการอนุมัติงบเงินกู้จากทางรัฐบาล ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จำนวน 576,592,500 บาท โดยมีพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดฯ ทั้งสิ้น 3,960 แห่ง ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย เเบ่งเป็นพื้นที่ระดับตำบล (CLM) : 68 แห่ง เเละพื้นที่ระดับครัวเรือน (HLM) : 3,892 แห่ง เเละโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กลุ่มเป้าหมาย พื้นที่เรียนรู้ชุมชน จำนวน 791 แห่ง แบ่งเป็น พื้นที่ 1 ไร่ 620 แห่ง และพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 171 แห่ง ในส่วนของอำเภอเมืองอุบลราชธานี มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” งบเงินกู้ COVID ในพื้นที่ทั้งสิ้น 47 แปลง แยกเป็น HLM 46 แปลง (พื้นที่ 1 ไร่ 13 แปลง, พื้นที่ 3 ไร่ 33 แปลง ) เเละ CLM 1 แปลง (พื้นที่ 15 ไร่ 1 แปลง) และมีการจ้างงานนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จำนวน 32 คน
จากการที่จังหวัดอุบลราชธานี นั้น ได้รับงบประมาณการสนับสนุนการดำเนินงานโครงการฯ มากที่สุดในประเทศไทย ถึง 3,960 แปลง จึงต้องให้ความสำคัญในการดำเนินงานให้เสร็จสิ้นตามเป้าหมาย ไม่เว้นแม้จะเป็นวันหยุดราชการก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อให้แปลงที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับประโยชน์จากโครงการฯโดยเร็ว โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปัจจุบัน ถือเป็นการช่วยสร้างทางรอดหรือแหล่งเรียนรู้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่คนในชุมชน โดยมีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นหน่วยงานหลักและมีเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนคอยเป็นพี่เลี้ยงในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ส่งผลดีต่อคนในชุมชนให้สามารถพึ่งตนเองได้ และสร้างงาน สร้างรายได้ อย่างยั่งยืนต่อไป
โดยกิจกรรมเอามื้อสามัคคีทั้งสองแปลง ในพื้นที่อำเภอเมืองอุบลราชธานีในครั้งนี้ ได้ดำเนินการตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ ประกอบด้วย การห่มฟางบำรุงดิน ปกป้องหน้าดิน การปลูกต้นไม้บริเวณริมบ่อและคลองไส้ไก่ โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ โด้ปฏิบัติตามมาตรการการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด ซึ่งเจ้าของแปลงทั้งสองแปลง คือนายประไพ มุขธรรม และนางจินตนา พูลเพิ่ม ต่างมีความพึงพอใจในการดำเนินกิจกรรมโครงการฯ อย่างมาก พร้อมขอบคุณรัฐบาล และกรมการพัฒนาชุมชน ที่นำโครงการฯ ที่ดีเช่นนี้ให้แก่พื้นที่ รวมถึงนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ที่ได้ประสานงาน คอยช่วยเหลือ และดูแลกิจกรรมอีกด้วย
โอกาสนี้ คณะเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน จากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองอุบลราชธานี ยังได้ให้คำแนะนำในการขับเคลื่อนแปลง “ขอชื่นชมการดำเนินงานเอามื้อสามัคคีในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชุมชนถิ่น และการช่วยเหลือเกื้อกูล เหมือนดังภาษาท้องถิ่นที่ว่า “ฮักแพง แบ่งปัน” โดยในอนาคตพื้นที่แห่งนี้ จะเป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาชุมชนให้มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนในชุมชนมีความรักสามัคคี เป็นสังคมแห่งความเกื้อกูล เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ซึ่งเป็นน้อมนำเอาแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาสืบสาน รักษา ต่อยอด และสามารถประยุกต์ใช้ได้จริงในการพึ่งตนเองและสร้างทางรอดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบัน”
อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี…ภาพข่าว/รายงาน