กรมหม่อนไหมเริ่มต้นฤดูกาลผลิตการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอุตสาหกรรม ประจำปี 2564 จัดทำพิธีลงนามข้อตกลงซื้อขายรังไหมอุตสาหกรรมในระบบเกษตรพันธสัญญา ระหว่างกลุ่มเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอุตสาหกรรม จ.น่าน เชียงราย พะเยา และบริษัท จุลไหมไทย จำกัด ยุค New Normal เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น Zoom Meeting จากกรมหม่อนไหม ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ น่าน และ บริษัท จุลไหมไทย จำกัด เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564 โดยมี นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม เป็นประธานและสักขีพยาน และมีผู้บริหารกรมหม่อนไหม ผู้บริหารบริษัท จุลไหมไทย จำกัด หัวหน้าส่วนราชการส่วนภูมิภาค ประธานกลุ่มผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม 3 จังหวัด และเกษตรกรเข้าร่วมพิธี พร้อมคาดการณ์ผลผลิตปี 2564 ไม่น้อยกว่า 75 ตัน และสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรมากกว่า 12 ล้านบาท
นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า สำหรับพื้นที่จังหวัดน่าน เชียงราย พะเยา กรมหม่อนไหมได้ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอุตสาหกรรม ตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากสถานการณ์การขาดแคลนรังไหมและเส้นไหมในตลาดโลกมีมากขึ้นเพราะประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตเส้นไหมรายใหญ่ของโลกได้ลดปริมาณการผลิตลง ทำให้ราคารังไหมและเส้นไหมในตลาดโลกขยับสูงขึ้น และปัจจุบันภาคเอกชนของไทย คือบริษัท จุลไหมไทย จำกัด มีความต้องการรังไหมเพื่อผลิตเส้นไหมปีละ 5,000 ตัน แต่เกษตรกรสามารถผลิตได้เพียงปีละ 2,000 ตัน
ดังนั้นเพื่อเป็นการขยายการผลิตตามความต้องการของตลาด กรมหม่อนไหมและบริษัท จุลไหมไทยฯ จึงเร่งสร้างเกษตรกรให้เข้าสู่ระบบการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยได้กำหนดเป้าหมาย และส่งเสริมกิจกรรมการฝึกอบรมให้ความรู้แบบครบวงจร สนับสนุนปัจจัยการผลิตที่จำเป็น รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มเกษตรกร และได้ขยายผลสู่การทำข้อตกลงเกษตรพันธสัญญา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการแข่งขัน ลดความเสี่ยงด้านการตลาด และเกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกร ซึ่งเป็นการบูรณาการ ระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม กลุ่มเกษตรกรและภาคเอกชน
ปัจจุบันพื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าว มีเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอุตสาหกรรม จำนวน 353 ราย โดยปีพ.ศ.2563 มีผลผลิตรังไหมรวม 54,514 กิโลกรัม คิดเป็นรายได้ 8,196,039 บาท ส่วนในปีพ.ศ.2564 มีแผนการเลี้ยงไหม จำนวน 10 รุ่น คาดการณ์จะได้ผลผลิตรังไหม จำนวน 75 ตัน และสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้มากกว่า 12 ล้านบาท
“การลงนามข้อตกลงเกษตรพันธสัญญาในการซื้อขายรังไหมอุตสาหกรรมนั้น ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทั้งด้านอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกร รวมทั้งสามารถลดการนำเข้าเส้นไหมจากต่างประเทศ ช่วยแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นการร่วมกันพัฒนาวงการหม่อนไหมไทยให้เจริญรุ่งเรือง และก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในการผลิตเส้นไหมในอันดับต้นๆ ของโลกต่อไป” อธิบดีกรมหม่อนไหมกล่าว