พช. เยือนถิ่นนักสู้ต้นแบบ “โคก หนอง นา พช.” แห่งเทือกเขาพนมดงรัก แปลง CLM อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ชูรัฐบาลและกองทัพไทย ช่วยประชาชนฝ่าวิกฤติโควิด-19 ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

วันที่ 10 มิถุนายน 2564 เวลา 11.30 น. นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ในพื้นที่อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นางสาวนันท์นภัส สุวรรณา พัฒนาการอำเภอน้ำยืน พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ ผู้นำชุมชน และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ร่วมให้การต้อนรับและสนับสนุนการดำเนินงาน

จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการอนุมัติดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จากทางรัฐบาล ผ่านทางกรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 576,592,500 บาท โดยมีพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดฯ ทั้งสิ้น 3,960 แห่ง ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย เเบ่งเป็นพื้นที่ระดับตำบล (CLM) : 68 แห่ง เเละพื้นที่ระดับครัวเรือน (HLM) : 3,892 แห่ง เเละโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กลุ่มเป้าหมาย พื้นที่เรียนรู้ชุมชน จำนวน 791 แห่ง แบ่งเป็น พื้นที่ 1 ไร่ 620 แห่ง และพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 171 แห่ง ในส่วนของอำเภอน้ำยืน มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” แยกเป็นงบพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่ 1 ไร่ 10 แปลง และพื้นที่ 3 ไร่ 17 รวม 27 แปลง งบเงินกู้รัฐบาล แปลง HLM 17 (พื้นที่ 1 ไร่ 9 แปลง, พื้นที่ 3 ไร่ 8 แปลง ) เเละ CLM พื้นที่ 15 ไร่ 6 แปลง และมีการจ้างงานนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ จำนวน 62 คน โดยได้รับงบประมาณโครงการฯ กิจกรรมที่ 2 (ขุดปรับพื้นที่แปลง CLM และ HLM) รวม 1,538,800 บาท และมีความคืบหน้าในการดำเนินการจัดทำสัญญา PO ทั้งสิ้น 1,418,800 บาท คิดเป็นร้อยละ 92.20 (ข้อมูลวันที่ 10 มิถุนายน 2564)

สำหรับการลงพื้นที่อำเภอน้ำยืน ของ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ในครั้งนี้ ได้ประชุมร่วมกับพัฒนาการอำเภอน้ำยืน และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน เพื่อติดตามสนับสนุนการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ได้แก่ ประเด็นปัญหาและอุปสรรคของการขุดปรับพื้นที่ การดำเนินงาน นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และการเบิกจ่าย นอกจากนั้น ยังได้เป็นกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ โดยขอให้มีการวางแผนบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงานในทุกมิติ ทั้งเรื่อง งาน งบ ระบบ คน สำหรับกรณีที่พื้นที่มีปัญหาในการดำเนินงานเเละเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขในพื้นที่ได้ ขอให้อำเภอรายงานให้จังหวัดทราบโดยเร็ว เพื่อจะได้ร่วมแก้ไขต่อไป และหากมีแปลงที่มีผลการดำเนินงานที่สามารถเป็น Best practices ขอให้อำเภอได้ทำการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องในช่องทางต่างๆ เพื่อให้เป็นตัวอย่างสำหรับแปลงอื่นต่อไป

จากนั้น เวลา 13.30 น. พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ติดตามและตรวจเยี่ยมการปรับพื้นที่แปลงตัวอย่างพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับตําบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) นายสมพงษ์ คำศรี ที่อยู่ บ้านเลขที่ 299 บ้านหนองขอนพัฒนา หมู่ที่ 21 ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี มีสมาชิกในครอบครัว 5 คน มีความถนัดเรื่อง การปลูกพืช ทำการเกษตร เอกสารสิทธิ์ โฉนดที่ดิน (น.ส.3) เนื้อที่เข้าร่วมโครงการ งบเงินกู้ 15 ไร่ และงบพัฒนาจังหวัด ปี 2563 อีก 5 ไร่ รวม 20 ไร่ แบบที่ใช้ขุดเป็น 1:3 ประเภทดินร่วนปนทราย ใช้เวลาขุด 30 วัน โดยกิจกรรมที่ดำเนินการแล้ว เช่น เอามื้อ ปลูกกล้วย ตะไคร้ ขมิ้น หญ้าแฝก และการปั้นอิฐดิน ประมาณ 4,000 ก้อน ต่อด้วย เวลา 14.30 น. ได้ตรวจเยี่ยมแปลง (Community Lab Model for quality of Life : CLM) นายกนกพล เกิ้นสอน บ้านบุเปือย หมู่ที่ 2 ตำบลบุเปือย อำเภอน้ำยืน อาชีพหลักเกษตรกรรม มีสมาชิกในครัวเรือน 4 คน ความถนัดเรื่องการทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ และการออกแบบพื้นที่ เอกสารสิทธิ์ น.ส.3 เนื้อที่ทั้งหมด 19 ไร่ แบบที่ใช้ขุดเป็น 1:3 ดินร่วนปนทราย ใช้เวลาขุด 25 วัน ซึ่งกิจกรรมที่ดำเนินการแล้ว เช่น เอามื้อสามัคคี ปลูกต้นไม้ (ทุเรียน ขนุน) หญ้าแฝก ตะไคร้ เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ซึ่งทั้งสองแปลงนั้น มีฐานเรียนรู้ที่จะดำเนินการในพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life : CLM) ระดับตำบลที่ดำเนินการในพื้นที่ จำนวน 9 ฐาน ได้แก่ ฐานการเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติ ฐานการเรียนรู้คนหัวเห็ด ฐานการเรียนรู้คนเอาถ่าน ฐานการเรียนรู้คนรักษ์แม่ธรณี ฐานการเรียนรู้คนรักป่า ฐานการเรียนรู้คนรักษ์น้ำ ฐานการเรียนรู้คนรักษ์แม่โพสพ ฐานการเรียนรู้คนมีไฟ เเละฐานการเรียนรู้หัวคันนาทองคำ

ด้านเจ้าของแปลงทั้งสองราย ซึ่งเป็นสมาชิกทีม SAVEUBON และวิทยากรหลักกสิกรรมธรรมชาติ ได้เปิดเผยว่า “ตนดีใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ และพื้นที่ของตนได้เป็นต้นแบบในการเป็นแหล่งเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เกิดขึ้น จากการสนับสนุนของรัฐบาล ผ่านทางกรมการพัฒนาชุมชน และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ซึ่งตนเองนั้น ได้มีความสนใจในการดำเนินวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นวิทยากรในทีม SAVEUBON ที่ขับเคลื่อนและขยายผลหลักกสิกรรมธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับงบประมาณในการปรับพื้นที่ในวันนี้ ซึ่งแต่เดิมพื้นที่แห่งนี้ใช้ประโยชน์คือทำสวนยางพารา และปลูกพืชผลไม้ การทำเกษตรก็ต้องพึ่งน้ำฝนตามฤดูกาล พอทราบข่าวการรับสมัครเข้าร่วมโครงการฯ จึงได้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งในอนาคตหวังว่าพื้นที่แห่งนี้จะเป็นศูนย์เรียนรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และหลักกสิกรรมธรรมชาติ ขอขอบคุณรัฐบาล กรมการพัฒนาชุมชน และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ที่สนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือประชาชนในครั้งนี้”

โอกาสนี้ นายคมกริช ชินชนะ ยังได้พบปะกับคณะทำงานที่ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการโครงการฯ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และเจ้าของแปลงว่า “โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” แปลง CLM นี้ เป็นนโยบายของรัฐบาล โดยความร่วมมือในการดำเนินงานระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ตลอดจนหน่วยงานภาคีในระดับพื้นที่ ขอชื่นชมการปรับพื้นที่ๆ เป็นไปตามแบบแปลนและระยะเวลาที่กำหนด และขอแสดงความยินดีกับท่านเจ้าของแปลง ซึ่งท่านได้ผ่านการอบรมและได้รับความรู้ภาคทฤษฎีมาแล้ว เมื่อขุดปรับพื้นที่เสร็จแล้ว จึงต้องน้อมนำไปสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่และดำเนินการสร้างฐานเรียนรู้ทั้ง 9 ฐาน ให้เป็นฐานเรียนรู้ที่เกิดประโยชน์กับประชาชน ในการเรียนรู้ทักษะและฝึกปฏิบัติตามที่ตนเองสนใจ นำไปสู่การดำรงชีวิต ขอให้ท่านทำต่อไปอย่างต่อเนื่องจนเป็นวิถีชีวิต และเป็นต้นแบบในการขยายผลต่อยอด ก่อนติดตามและสนับสนุนการดำเนินงานเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องด้วย ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านมีความสุขความเจริญสืบไป” นายคมกริช กล่าวปิดท้าย

อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอน้ำยืน ว ภาพข่าว/รายงาน