ชป.แจงกรณีการคัดค้านวังหีบ ย้ำทำตามระเบียบและขั้นตอนของกฎหมายทุกอย่าง

กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีกลุ่มผู้คัดค้านการก่อสร้างเขื่อนวังหีบ จ.นครศรีธรรมราช ได้ยื่นหนังสือคัดค้านต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนหน้าการอนุมัติโครงการฯ 1 วัน แต่ไม่มีผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล อีกทั้ง เชื่อว่าเขื่อนแห่งนี้ไม่ได้แก้ปัญหาสาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมในพื้นที่    อ.ทุ่งสงได้ เพราะปัญหาน้ำท่วมเกิดจากทางน้ำถูกกีดขวาง รวมไปถึงพื้นที่ก่อสร้างเขื่อน เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ    ชั้น 1 เอ รวมทั้ง การนำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ที่อนุมัติไปเมื่อ 15 ปีที่แล้วมาใช้ ทั้งที่ระบบนิเวศย่อมเปลี่ยนแปลงไปมาก ขณะที่ชุมชนและสังคมไม่เคยได้เห็นรายงานดังกล่าวเลย นั้น

นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจวัตถุประสงค์หลักของโครงการวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริก่อนว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการเก็บกักน้ำ สำหรับส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรในเขต อ.ทุ่งสง พื้นที่ได้รับผลประโยชน์ประมาณ 13,014 ไร่ ครอบคลุม 24 หมู่บ้าน 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลนาหลวงเสน ตำบลหนองหงส์ ตำบลควนกรด และตำบลนาไม้ไผ่ ประมาณ 12,821 ครัวเรือน นอกจากนี้ ยังใช้ประโยชน์เพื่อรักษาระบบนิเวศ การอุปโภคบริโภค และส่งน้ำดิบเพื่อการประปาได้อีกด้วย

สำหรับกรณีของการบรรเทาอุทกภัยในเขต อ.ทุ่งสง นั้น ขอชี้แจงว่า กรมชลประทาน ได้มีการศึกษาแผนหลักโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองทุ่งสงไว้แล้ว ซึ่งจะได้เร่งรัดโครงการฯและเตรียมความพร้อมก่อนการก่อสร้างต่อไป

ส่วนกรณีพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนวังหีบ อยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำชั้น 1 เอ และเป็นป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ นั้น        ขอชี้แจงว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2546 กำหนดไว้ว่า “กรณีจำเป็นที่ต้องขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ต่อคณะรัฐมนตรี ส่วนราชการจะต้องจัดทำรายงาน EIA เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาก่อนเพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีทุกครั้ง” ซึ่งกรมชลประทานได้มีการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อให้เป็นไปตามนัยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว

ในส่วนของการนำผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) เมื่อ 15 ปีก่อนมาใช้อ้างอิง นั้น เนื่องจากโครงการวังหีบฯ ได้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว พร้อมทั้งมีการแก้ไขทบทวน รายงานดังกล่าวหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ล่าสุดในคราวการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 มีมติเห็นชอบต่อรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมทั้งกำหนดให้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP) โดยเคร่งครัด รวมทั้งการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรกรน้ำแห่งชาติ(กนช.) ครั้งที่ 4/2559 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 มีมติเห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการวังหีบฯ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 อนุมัติโครงการวังหีบฯแล้ว

โครงการวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกฤษฎา บุญราช ต้องนำเสนอให้ ครม.เห็นชอบ เนื่องจากโครงการฯ ได้ผ่านการทำตามขั้นตอนที่กฎหมายและระเบียบของทางราชการกำหนดไว้แล้ว หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่นำเรื่องดังกล่าว เสนอต่อที่ประชุม ครม. ทั้งที่โครงการฯได้ผ่านการทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว เช่นการทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การรับฟังความเห็นประชาชน และการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นต้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาจมีความผิดได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดทำโครงการฯดังกล่าว ยังมีสิทธิร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดได้ เนื่องจากผ่านความเห็นชอบของ ครม.มาแล้ว ไม่ต้องเริ่มฟ้องที่ศาลปกครองชั้นต้น” นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กล่าวในที่สุด

 

************************************

กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์