วันที่ 10 มิถุนายน 2564 ปิติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาพระราชทานลายผ้าบาติก ในโอกาสเปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน“ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” กิจกรรมประกวดผ้าลายพระราชทาน ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวีฯ โครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทย ระดับภาค พื้นที่ภาคกลาง
โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน เป็นประธานในการประกวด ฯ ร่วมด้วย นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม ทีมคณะกรรมการ นำโดย นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารของนิตยสารโว้ก ประเทศไทย นางสาวรติรส ภู่วิภาดาวรรธน์ และคณะ ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติ สื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ โรงแรมแคนทารี โฮเทล อยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สำหรับการประกวดในวันนี้ ถือเป็นปฐมฤกษ์ โดยเริ่มต้นจากภาคกลาง เพื่อคัดเลือก 75 ผ้าพื้นถิ่น จาก 4 ภูมิภาค เข้าตัดสินในระดับประเทศ โดย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานการตัดสิน ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 และนับเป็นมิ่งมงคลยิ่งต่อการเริ่มต้นกิจกรรมการประกวดในครั้งนี้ โดยพระองค์ได้พระราชทาน แบบผ้าบาติกลายพระราชทาน 3 ลาย เป็นดังของขวัญพระราชทานอันมีนัยยะถึงความรักและความห่วงใยในพสกนิกรไทย ที่สะท้อนมาจากพระอัจฉริยภาพในการสร้างสรรค์ศิลปะ วัฒนธรรมอันงดงามของไทย กับความเป็นสากล ของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งทุกลวดลาย สีสัน ล้วนสื่อความหมาย ได้แก่
ผ้าบาติกลายพระราชทาน “ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง” สื่อถึงธรรมชาติอันบริสุทธิ์ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่งดงาม ลวดลายประกอบด้วย ลายนกยูง หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ,ลายคลื่นน้ำ หมายถึง ท้องทะเลภาคใต้ ที่มีธรรมชาติอันสวยงาม ,ลายเรือกอและ หมายถึง วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของภาคใต้ที่ควรรักษาไว้ ,ลายดอกไม้โปรย สื่อถึงมิตรภาพและความจริงใจที่ประชาชนชาวภาคใต้มอบให้กับพระองค์ ลายพระอาทิตย์ หมายถึง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ,ลายกรอบตัว S อักษรพระนามาภิไธย S หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
ผ้าบาติกลายพระราชทาน “ท้องทะเลไทย” ด้วยแรงบันดาลพระทัยในการอนุรักษ์สัตว์ทะเลและสิ่งแวดล้อมของท้องทะเลไทย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบลายผ้าบาติกพระราชทาน ‘ท้องทะเลไทย’ ด้วยทรงพระดำริ ให้เป็นการจุดประกายความคิดเพื่อให้ ผู้คนเกิดจิตสำนึกในการหวงแหนและรักษาทรัพยากรทางทะเลไทยอันมีค่า ลวดลายประกอบด้วย ลายกะละปังหา หมายถึง ต้นกะละปังหาที่แตกกิ่งก้านออกเป็นรูปพัด เป็นบ้านของสัตว์ทะเลหลายชนิด ,ลายม้าน้ำ ม้าน้ำที่ขดตัวเป็นอักษรพระนามาภิไธย S หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ,ลายคลื่น ลูกคลื่นที่ล้อไปกับอักษรพระนามาภิไธย S หมายถึง ความห่วงใยใน สิ่งแวดล้อมของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ,ลายดาวทะเล หมายถึง สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย ,ลายขอบตัว S อักษรพระนามาภิไธย S หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
ผ้าบาติกลายพระราชทาน ‘ป่าแดนใต้’ สื่อถึงวิถีชีวิตและธรรมชาติของภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์ จึงได้ทรงออกแบบผ้าบาติกลายพระราชทาน ‘ป่าแดนใต้’ ด้วยทรงพระดำริให้เป็นการจุดประกายความคิด ในเรื่องของการอนุรักษ์ป่าฝนเขตร้อนที่มีระบบนิเวศอันอุดม ลวดลายประกอบด้วย ลายดอกดาหลาสัญลักษณ์ของดอกไม้พื้นถิ่นภาคใต้ ,ลายนกเงือก 10 ตัว หมายถึง พระบาทสมเด็จ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และยังหมายถึงความรักที่ซื่อสัตย์ ,ลายเถาไม้รูปตัว S หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ,ลายคลื่นตัว S และลายลูกปลากุเลา หมายถึง ความห่วงใยในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของภาคใต้ของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ,ลายปารังและลายต้นข้าว สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ของภาคใต้
ด้วยทรงมีพระประสงค์ให้ประชาชนใช้เวลาว่างในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ต้องทำงานอยู่ที่บ้านให้เป็นประโยชน์ มีรายได้เสริม และสร้างสรรค์งานศิลปะ เพื่อจรรโลงจิตใจ ในยามวิกฤติ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านและภูมิปัญญาไทย เพื่อฟื้นฟูมรดกงานศิลป์ล้ำค่าของแผ่นดินไทยอย่างแท้จริง ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระองค์ทรงต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาค เป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ปวงชนคนไทยไม่ว่าจะในชนบทและเมือง ทรงพระราชทานแบบลายผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่พสกนิกรชาวไทย อันเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดถึงพระปรีชาสามารถในด้านการออกแบบ ตอกย้ำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าความงดงามของผ้าไทยจะคงอยู่คู่กับสังคมไทย ทำให้พี่น้องทั้งหลาย กล้าที่จะออกจากกรอบความคิดที่มีต่อผ้าไทยแบบดั่งเดิม ในวันนี้คุณูปการที่เกิดขึ้นจึงไม่เพียงแต่วงการทอผ้าเท่านั้น แต่ยังต่อยอดไปถึงการสร้างคุณค่าในงานหัตถกรรม หัตถศิลป์ประเภทอื่นๆ อีกด้วย ด้วยพระทัยอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา หนุนให้พี่น้องช่างฝีมือ กลุ่มทอผ้า ผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ยังคงสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนเลี้ยงดูครอบครัว แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้ฝ่าฟันไปได้อย่างมั่นคง จึงนำมาซึ่งความซาบซึ้งจนมีคำกล่าวถึงสิ่งที่พระองค์ทรงพระราชทานว่า “เปรียบเสมือนน้ำทิพย์ที่หยาดลงในทะเลทราย” และด้วยพระวิริยะอุตสาหะของพระองค์ที่ทรงเสด็จไปยังหัวเมืองทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ถึง 2 รอบ พระองค์ได้มีพระกรุณาแนะแนวทางการพัฒนา ยกระดับ ให้กลุ่มหัตถกรรมทั้งหลายได้เพิ่มความประณีต ใส่ฝีมือ ใส่ลูกเล่นลงไป ผลงานที่ปรากฏในวันนี้จำนวน 197 ผืนในส่วนของภาคกลาง และ 3,215 ผืนจากทั่วประเทศ จึงเป็นดังดอกผล ของความมหัศจรรย์ที่พระองค์ได้ทรงพระราชทาน
นับเป็นนิมิตรหมายอันดีสำหรับการประกวดในวันนี้ โดย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทาน แบบผ้าบาติกลายพระราชทาน 3 ลาย “ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง” “ท้องทะเลไทย” และ “ป่าแดนใต้” ที่พระองค์ได้แรงบันดาลพระทัยจากการเสด็จไปทอดพระเนตรงานศิลปหัตถกรรมจากภูมิปัญญาพื้นถิ่นในภาคใต้หลายครั้ง ทรงพบเห็นวิถีชีวิตและธรรมชาติของภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์ พระดำริทั้งหมดถูกถ่ายทอดลงบนผ้าลายบาติกพระราชทานนี้ เพื่อพระราชทานให้กับช่างฝีมือบาติก เป็นของขวัญตอบแทนมิตรภาพ และความจริงใจที่ประชาชนชาวภาคใต้มอบให้กับพระองค์ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของผลิตภัณฑ์ด้วยเรื่องราวและความหมายชวนประทับใจเป็นการยกระดับผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน
การประกวดผ้าลายพระราชทาน“ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ตามโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทย ระดับภาค ในวันนี้เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจที่กรมการพัฒนาชุมชน ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และทุกภาคีเครือข่าย ได้มีโอกาสน้อมนำเอาแนวพระราชดำริในวิถีของการการวิจัยและพัฒนา หรือ R&D ผ้าไทยให้ได้รับการยกระดับ และคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อกระตุ้นให้พี่น้องกลุ่มทอผ้าทั้งหลาย ได้พัฒนาฝีมือ ค้นหาเทคนิควิธีการในการผลิตผ้าไทยให้ดีขึ้นเหมาะสมแก่การตัดเย็บเสื้อผ้าสมัยใหม่ เหนือล้ำไปกว่าการมุ่งหวังผลแพ้ชนะ คือการการสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง องค์อุปถัมภ์แห่งศิลปาชีพไทย ที่ทรงริเริ่มนำหัตถกรรมพื้นถิ่น เสน่ห์ของงานฝีมือดั้งเดิม และวิถีชีวิตให้กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้ชาวบ้านอย่างมั่นคง
นับจากนี้ ตลอดทั้งเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนกรกฎาคม 2564 กรมการพัฒนาชุมชน จะมีการดำเนินการประกวดโดยเริ่มจากระดับภาค ไปสู่ระดับประเทศ ทั้งนี้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในพื้นที่ภาคกลางเป็นจุดแรก จากนั้นไปภาคใต้ เป็นจุดที่ 2 ระหว่างวันที่ 13 – 14 มิถุนายน 2564 จังหวัดนครศรีธรรมราช จุดที่ 3 ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 17 – 18 มิถุนายน 2564 จังหวัดเชียงใหม่ และสุดท้ายจุดที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุดรธานี ต่อด้วยการประกวดในรอบ Semi Final รอบตัดสิน 75 ผืนสุดท้าย ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร และประกาศผลรอบตัดสิน 75 ผืนสุดท้าย ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 สำหรับการประกวดในระดับประเทศ รอบตัดสินรางวัล ดำเนินการ ระหว่างวันที่ 27 – 29 กรกฎาคม 2564 ณ ทรูไอคอนฮอลล์ ห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม กรมการพัฒนาชุมชน และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระราชินูปถัมน์ ได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในการตัดสิน นับว่าเป็นสิ่งที่เป็นขวัญและกำลังใจอย่างยิ่งกับพี่น้องวงการผ้าไทย ปลุกกระแสวงการผ้าไหม ให้เกิดการสืบสาน รักษา ต่อยอด ภูมิปัญญาให้ดำรงเอกลักษณ์ไทยไว้ได้อย่างสมบูรณ์งดงาม”
กรมการพัฒนาชุมชน ขอน้อมนำพระดำริของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการเพิ่มคุณค่า และมูลค่ายกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ให้สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน โดยพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี” และผ้าบาติกลายพระราชทาน ทั้ง 3 ลวดลาย เปรียบดังแสงสว่างแห่งวิถีความงดงามของอัตลักษณ์ไทย ส่งผ่านไปสู่พี่น้องประชาชน นำทางให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก อันเป็นพลังที่จะสืบสานความเป็นไทยให้คงอยู่สืบไป