วันที่ 7 มิถุนายน 2564 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าไตร เพื่อทอดผ้าป่าการกุศลสมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดล และมูลนิธิรามาธิบดี โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส นำผ้าไตรพระราชทาน จำนวน 1 ไตร ทอดถวายแด่ พระปัญญาวิสุทธิโมลี เจ้าคณะอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา (ธรรมยุต) และผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดโพนงาม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ โดยมี นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา นายสรายุทธ แก้วกุลปรีชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดที่เกี่ยวข้อง และผู้นำชุมชน ร่วมในพิธี ณ ศาลาค่ายพุทธบุตร วัดโพนงาม ตำบลคู้ยายหมี อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ อย่างหาที่สุดมิได้ ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าไตรเพื่อทอดผ้าป่าการกุศลสมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดล และมูลนิธิรามาธิบดี ในงานทำบุญอายุวัฒนมงคลครบ 50 ปี ตรงกับวันที่ 7 มิถุนายน 2564 พระปัญญาวิสุทธิโมลี เจ้าคณะอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา (ธรรมยุต) และผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดโพนงาม ในการนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย เปิดกรวยถวายเครื่องราชสักการะหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จากนั้นถวายธูปเทียนแพ สักการะพระปัญญาวิสุทธิโมลี ประธานฝ่ายสงฆ์นำพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ รวม 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์ ชัยมงคลคาถา ประธาน ถวายผ้าไตรพระราชทาน จำนวน 1 ไตร และถวายเครื่องไทยธรรมพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 10 รูป โดยคณะสงฆ์ถวายพระพร อนุโมทนาเพื่อเป็นมิ่งขวัญ สิริมงคล เป็นอันเสร็จพิธี
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ดังที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่าง รวมถึงพระราชทานพระบรมราโชวาทในเรื่องการประกอบคุณงามความดี ด้วยความเพียร ความอุตสาหะ และความพยายามอย่างไม่ทรงย่อท้ออยู่เสมอ ทรงบำเพ็ญพระองค์เพื่อประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรทั่วทุกภูมิภาคอยู่เสมอ และทรงช่วยเหลือกิจการโครงการตามพระราชดำริทุกโครงการ ด้วยทรงมีพระปรีชารอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์และดนตรีไทย ซึ่งพระองค์ได้นำมาใช้ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และให้การอุปถัมภ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศ พระองค์จึงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระสมัญญาว่า “เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” และ “วิศิษฏศิลปิน” ยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการศึกษา การพัฒนาสังคม โดยทรงมีโครงการในพระราชดำริส่วนพระองค์หลายหลากโครงการ ซึ่งมุ่งเน้นทางด้านการแก้ปัญหาการขาดแคลนของเด็กในท้องถิ่นทุรกันดาร และพัฒนามาสู่การให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาราษฎร
ในโอกาสมิ่งมงคล ที่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าไตรเพื่อทอดผ้าป่าการกุศลสมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดล และมูลนิธิรามาธิบดี ในครั้งนี้ จึงเป็นดังการทำนุบำรุงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ส่งเสริมศีลธรรม ความร่มเย็นแห่งใจ เพราะธรรม คือน้ำทิพย์แห่งความเมตตา กรุณา และปัญญา ก่อให้เกิดคุณูปการแห่งการสร้างโอกาส ความหวัง เสริมพลังสู่สังคมที่เท่าเทียม และพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง ตามปณิธานของทั้ง 2 มูลนิธิ ที่เป็น “สะพานแห่งการให้” คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดย มูลนิธิอานันทมหิดล เป็นมูลนิธิที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น ด้วยพระเมตตา ห่วงใยราษฎรของพระองค์ด้านสุขอนามัยตั้งแต่ระดับพื้นฐาน เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประชาชนและประเทศชาติ จึงทรงให้ความสำคัญกับการผลิตแพทย์และนักสาธารณสุขศาสตร์
ต่อมา ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยให้เปลี่ยนสถานภาพจากทุนเป็นมูลนิธิ และได้ขยายขอบเขตการพระราชทานทุนเพิ่มขึ้นในหลายสาขา เพื่อให้นักศึกษาและบัณฑิตชาวไทย ได้รับโอกาสไปศึกษาต่อเพิ่มเติม ณ ต่างประเทศ ในระดับที่สูงขึ้น และนำความรู้ความเชี่ยวชาญกลับมารับใช้ประเทศชาติต่อไปหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับสูงสุดแล้ว ในส่วนของ มูลนิธิรามาธิบดี เป็นมูลนิธิที่เล็งเห็นความสำคัญและโอกาสเยียวยารักษาอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้เข้าถึงการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางระดมทุนจากผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์ และนำไปจัดสรร เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทางด้านการแพทย์ ช่วยต่อลมหายใจผู้ป่วยให้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาอย่างเต็มประสิทธิภาพทุกระดับชั้น ด้วยประโยชน์ที่ได้สร้างให้กับสังคมและประชาชน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับมูลนิธิรามาธิบดีฯ อยู่ในพระราชูปถัมภ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551 มูลนิธิรามาธิบดี ยังคงดำเนินงานเป็น “สะพานแห่งการให้” พัฒนาวงการสาธารณสุข ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ ต่อไปเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน ตามปณิธาน “คำว่าให้ ไม่สิ้นสุด” กว่า 52 ปี ตราบจนปัจจุบัน
สำหรับวัดโพนงาม ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2537 และได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2543 เป็นวัดธรรมยุต ที่มีบริเวณวัดกว้างขวาง ด้วยลานวัดมีต้นไม้ที่ให้ร่มเงา สงบเงียบเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม เจริญสติของประชาชนและผู้มีจิตศรัทธา โดยวัดโพนงาม เป็นวัดที่อยู่ใกล้ชิดชุมชน ได้นำหลัก “บวร” อันประกอบด้วย บ้าน วัด โรงเรียน/ราชการทุกภาคส่วน เพื่อร่วมขับเคลื่อนและเป็นต้นแบบในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนตลอดมา ปัจจุบันมี พระปัญญาวิสุทธิโมลี เจ้าคณะอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา (ธรรมยุต) อายุ 50 ปี พรรษา 28 เป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดโพนงาม สำเร็จการศึกษา สอบได้นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนวัดเทพนิมิต พ.ศ. 2532 สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค สำนักเรียนวัดเทพนิมิต พ.ศ. 2539 และ สำเร็จปริญญาศึกษาศาสตรบัณฑิต (ศษ.บ.) มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2553 ดำรงสมณศักดิ์ เป็น เปรียญธรรม 5 ประโยค พ.ศ. 2539 เป็น พระครูปลัดสุวัฒนเมตตาคุณ (พระครูปลัดของพระราชาคณะเจ้าคณะรอง) พ.ศ. 2553 และ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ที่ พระปัญญาวิสุทธิโมลี เมื่อ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2553
ภายหลังเสร็จพิธี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และ นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ร่วมจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของจังหวัดฉะเชิงเทรา รอบการกุศลพิเศษ โดยมีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ อาทิ ขนมเปี๊ยะ กลุ่มผู้ผลิตบ้านเทียนหอม ,ข้าวสามสี ข้าวไรซ์เบอรี่ ราชสาส์น ,น้ำพริกเกลือแม่สาคร ,มะม่วงกวน กล้วยตากพลังงานแสงอาทิตย์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านคลองเอวจระเข้ ,มะพร้าวน้ำหอม วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมบางตลาด เป็นต้น มียอดจำหน่าย 23,500 บาท
รายได้ทั้งหมดนำสมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดล มูลนิธิรามาธิบดี และมอบเงินสนับสนุนทุนการศึกษา จำนวน 6 ทุน เป็นเงิน 47,000 บาท แก่นักเรียน ตามโครงการเด็กดี มีคุณธรรม โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ตลอดจนแจกเมล็ดพันธุ์ผักสวนครัว 12 ชนิด จำนวน 120 ชุด ได้แก่ ผักบุ้งจีน ขึ้นฉ่าย คะน้า ผักกาดขาวใหญ่ กวางตุ้ง ผักชี ข้าวโพดหวาน กะเพรา แมงลัก โหระพา ถั่วฝักยาว น้ำเต้า และต้นกล้าผักสวนครัว จำนวน 500 ต้น อาทิ กระเพรา โหระพา กระชาย แมงลัก สะระแหน่ พริก มะเขือเทศ พร้อมปุ๋ยมูลไส้เดือน น้ำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ให้กับผู้ที่มาร่วมในพิธี
เพื่อร่วมกันน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน “ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2” ต่อยอดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนระดับฐานราก อันมีนัยสำคัญในการสร้างหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มั่นคงและปลอดภัย ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ส่งเสริมความรักความสามัคคีในครอบครัว และความเอื้ออาทรในชุมชน ท้องถิ่น ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อักทั้งยังตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ในเรื่องการขจัดความหิวโหย การรณรงค์ให้ทุกครัวเรือนปลูกผักสวนครัวอย่างต่อเนื่อง รูปธรรมแห่งความสำเร็จดังกล่าวจะเป็นหนทางในการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในช่วงวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) และเรียนรู้การพึ่งพาตนเองได้อย่างมีความสุขอย่างยั่งยืน สามารถขยายผลไปสู่การสร้างชุมชนสีเขียว ระบบนิเวศน์ที่ดี ในระยะยาวอีกด้วย