ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานในพิธีเปิดการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ IFMSA-Bootcamp 2021 “The Change Agents in Health System” โดยกล่าวปาฐกถาพิเศษ “ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ และการสร้างเสริมสุขภาพทุกคนบนแผ่นดินไทย” ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันปัญหาสุขภาพเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนจำนวนมากป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น มะเร็ง เบาหวาน ความดัน หลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ ซึ่งล้วนเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต พฤติกรรมสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs วันละไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ที่สำคัญโรคเหล่านี้กลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมหาศาล และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่งบประมาณการส่งเสริมป้องกันโรคของไทย ตลอดหลายปีที่ผ่านมาต่ำมากไม่ถึงร้อยละ 10 ของงบประมาณค่าใช้จ่ายสุขภาพ ดังนั้น จึงต้องนำหลักการ “สร้างนำซ่อม” อย่ารอให้ร่างกายเสียแล้วค่อยมา ‘ซ่อม’ สุขภาพ แต่ให้มา ‘สร้าง’ สุขภาพ ให้ร่างกายแข็งแรงเพื่อป้องกันโรค
ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า สสส. ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพโดยยึดตามแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพตามกฎบัตรออตตาวา (Ottawa Charter for Health Promotion) 5 ด้าน ประกอบด้วย
1.การสร้างนโยบายสาธารณะ (Build Healthy Public Policy)
2.การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ (Create Supportive Environment)
3.การเพิ่มความสามารถของชุมชน (Strengthen Community Action)
4.การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล (Develop Personal Skills)
5.ปรับระบบบริการสุขภาพ (Reorient Healthy Services)
ซึ่งกลยุทธ์สร้างเสริมสุขภาพนั้น แพทย์ และบุคลากรสาธารณสุขมีบทบาทสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพนิสิตนักศึกษาแพทย์จึงมีความสำคัญอย่างมาก ในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในระดับปฐมภูมิ ที่เน้นการทำงานเชิงรุกที่เข้าไปสู่ชุมชน เป็นการเสริมสร้างรากฐานงานสร้างเสริมสุขภาพที่ยั่งยืน
“การทำให้ทุกคนเป็นแผ่นดินไทยมีสุขภาวะที่ดี ยังจำเป็นต้องพิจารณาถึงปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ (Social Determinants of Health) เช่น เพศ เชื้อชาติ ความพิการ การศึกษา สถานะทางทะเบียน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เห็นความซับซ้อนของปัญหา มองสถานการณ์สุขภาพอย่างรอบด้าน และสามารถพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพใหม่ๆ เพื่อขจัดปัจจัยทางสังคมที่เป็นอุปสรรค หรือเสริมปัจจัยที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี ดังนั้น แนวคิดปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ จึงจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยพัฒนาให้นิสิตนักศึกษาแพทย์สามารถทำงานสร้างเสริมสุขภาพได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องต่อบริบทของพื้นที่ และความแตกต่างหลายหลายของทุกคนบนแผ่นดินไทย” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand) และราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพนิสิตนักศึกษาแพทย์ หรือ Bootcamp เป็นหนึ่งใน “เครื่องมือ” ในการพัฒนาศักยภาพนิสิตนักศึกษาแพทย์ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญด้านบุคลากรในระบบสุขภาพในอนาคต ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาและเสริมศักยภาพนิสิตนักศึกษาแพทย์ไทยในการเรียนรู้ เข้าใจ และขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน สานพลังเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐ และภาคประชาสังคมในการหนุนเสริมการพัฒนาศักยภาพนิสิตนักศึกษาแพทย์ไทยในเรื่องของการพัฒนาระบบระดับประเทศ รวมถึงพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านสุขภาพในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของประชนทุกช่วงวัย และสอดคล้องกับความแตกต่างหลากหลายในแต่บริบทของชุมชน ซึ่งเป็นต้นทุนในการต่อยอดเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพทุกระดับในอนาคตต่อไป
นายสหรัฐ เหลี่ยมเพ็ง นักศึกษาแพทย์วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายนิสิตนักศึกษาแพทย์เพื่อการพัฒนาบทบาทการสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน (Bootcamp) กล่าวว่า การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการจัดงานในรูปออนไลน์ เนื่องจากอยู่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยภายในงานมีการอบรมหัวข้อสุขภาพต่าง ๆ เช่น นักเปลี่ยนแปลงในระบบสุขภาพไทย ระบบสุขภาพของคนไทย การสร้างสุขภาวะชุมชน การสร้างเสริมสุขภาพชุมชนในช่วงโควิด-19 เป็นต้น
โดยคาดหวังว่า นิสิตนักศึกษาแพทย์ที่ได้รับการอบรม จะสามารถนำไปประยุกต์เพื่อการทำงานดูแลสุขภาพให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัยและบูรณาการทำงานทั้งเชิงพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในมิติต่างๆ และมุ่งหวังผลสัมฤทธิ์ในการลดปัจจัยเสี่ยงหลัก เพิ่มพฤติกรรมสุขภาพ และสร้างวัฒนธรรมการสร้างเสริมสุขภาพให้กับประชาชน ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก Bootcamp IFMSA-Thailand
///////////////////////////////////////////