วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 นางลภารมย์ หนูสวัสดิ์ พัฒนาการจังหวัดพัทลุง มอบหมายนายประพันธ์ วรรณบวร ผอ. กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยนางวนิดา เพชรกาฬ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ พร้อมทั้ง นางโสรญา ยอดราช นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ และนางสาววนิดา สงรักษ์ นักการตลาดรุ่นใหม่ (OTOP) ได้ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินกิจกรรมตามยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ รูปแบบ โคก หนอง นา พช. ในพื้นที่อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง
โดยมีนายศิษฐวิทย์ สันติเจริญโรจน์ พัฒนาการอำเภอบางแก้วและพัฒนากรประสานตำบล ร่วมติดตามและให้ข้อมูล โดยการดำเนินงานในภาพรวม ได้มีการขุดเสร็จเกือบครบ 100% เหลือกำลังขุดแปลงสุดท้าย ซึ่งแปลงที่ขุดเสร็จแล้วสวยงามทุกแปลง สร้างความประทับใจแก่ผู้นำภาคีเครือข่าย และเจ้าของแปลงทุกแปลงต่างดีใจ ชื่นใจ มั่นใจ และพร้อมขับเคลื่อนให้เป็นศูนย์เรียนรู้ในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง สร้างประโยชน์ให้แก่เจ้าของแปลงและคนในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความยั่งยืน ณ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง
จังหวัดพัทลุง ได้รับการอนุมัติดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จำนวน 3,078,600 บาท โดยมีพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดฯ 1 ตำบล คือ ตำบลเขาย่า อำเภอศรีบรรพต รวมทั้งสิ้น 11 แปลง เเบ่งเป็นพื้นที่ระดับตำบล (CLM) 1 แปลง (จำนวน 15 ไร่) เเละพื้นที่ระดับครัวเรือน (HLM) : 10 แปลง (1 ไร่ 3 แปลง 3 ไร่ 7 แปลง) และมีการจ้างงานนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จำนวน 10 คน งบประมาณจ้างงานตามโครงการฯ รวม 1,080,000 บาท เเละโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดพัทลุง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยมีกลุ่มเป้าหมาย พื้นที่เรียนรู้ชุมชน จำนวน 172 แห่ง แบ่งเป็น พื้นที่ 1 ไร่ 140 แห่ง และพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 32 แห่ง ดำเนินการในพื้นที่อำเภอบางแก้ว จำนวน 7 แปลง แยกเป็น 1 ไร่ 5 แปลง 3 ไร่ 2 แปลง รวมถึงในส่วนของอำเภอบางแก้ว ได้มีการขับเคลื่อนตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช. ” จำนวน 6 แปลง ดังนี้
1. โคก หนอง นา พช. แปลง 1 ไร่ ของนายศุภชัย นุ่นมัน หมู่ที่ 5 บ้านช่างทอง ตำบลนาปะขอ ห่างถนนลาดยาง 30 เมตร หลังขุดได้เพียงสัปดาห์เศษ ได้รองรับน้ำฝนที่ตกลงมาเกือบเต็มทั้ง 2 หนอง เห็นน้ำสีเขียวใสสะอาด น่าชื่นใจ ข้างแปลงมีการขุดคลองไส่ไก่เพื่อเชื่อมกับสระน้ำสร้างความชุ่มชื้นได้ทั้งแปลง และได้มีการขยายผลพัฒนาพื้นที่รอบๆแปลงเพิ่มอีกรวม 3 ไร่ และพื้นที่แปลงใกล้เคียงได้ใช้ประโยชน์เกื้อกูลกันอีกเกือบ 10 ไร่ มีการทำปุ๋ยหมัก ปลูกพืชผักผลไม้ กล้วย มะนาว เลี้ยงวัว 3 กลุ่มจากงบกองทุนพัฒนาสตรี เกิดต่อยอดบูรณาการ การปลูกพืชแบบผสมผสาน เชื่อมโยงกลุ่มอาชีพเครื่องแกง ซึ่งมีการปลูกพริก ตะไคร้ ข่า เป็นต้น เจ้าของแปลงตั้งใจแบ่งปันความความสุขโดยใช้แปลงตัวเองให้คนในหมู่บ้านเป็นพื้นที่ใช้สอยประโยชน์จากแปลงอย่างเต็มที่
2. โคก หนอง นา พช. แปลง 1 ไร่ของนายพยูร สัตตะพันธุ์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 11 ตำบลนาปะขอ ซึ่งลุงพยูร เป็นปราชญ์สัมมาชีพชุมชน ได้ใช้พื้นที่บริเวณบ้านปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ทำเกษตร และมีการแปรรูปผลผลิตต่างๆ อาทิเช่น โรงสี เป็นต้น ลุงพยูรทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ และบอกถึงความรู้สึกปลาบปลื้มดีใจที่ได้มีโอกาส เดินตามรอยพ่อกับโครงการ โคก หนอง นา พช. และจะตั้งใจให้ดีและขยายผลให้กลุ่มเครือข่ายในพื้นที่ด้วย ที่น่าสนใจลุงพยูรกำลังลงทุนก่อสร้างอาคารทำร้านค้าโคก หนอง นา พช.ตั้งอยู่หน้าบ้านติดถนนลาดยางสายหลัก อยู่ด้านหน้าแปลงโคก หนอง นา และทำเลดีมองเห็นริมทะเลห่างกันราว 400 เมตร เป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตปลอดสารเคมีของจากแปลงของตนเองและของกลุ่มในหมู่บ้าน เพื่อแบ่งปันให้คนในหมู่บ้านใกล้เคียง
3. โคกหนอง นา พช. แปลง 1 ไร่ของน.ส. อัจราภรณ์ เกตุแก้ว ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลโคกสัก ครัวเรือนนี้เดิมเป็นเครือข่าย OTOP มีการทำผลิตภัณฑ์ เคยเครื่องเป็นสินค้า OTOP จำหน่าย และหน้าบ้านเปิดร้านขายกาแฟด้วย หน้าบ้านติดถนนสายหลัก หลังบ้านเป็นสวนยาง สวนปาล์ม จึงปรับพื้นที่เป็น โคก หนอง นา พช. เป็นแปลงที่สวยงามเพราะหน้าแปลงมีปาล์มเป็นร่มเงา บนโคกมีต้นไม้ที่ปลูกไว้ก่อนกำลังโต ขุดคลองไส้ไก่เพิ่มเติมบนโคกอีกตลอดแนว ปลูกพืชผักแล้วหลากหลาย เช่น ถั่วฝักยาว มะเขือ พริก มะละกอ เป็นต้น ในแปลง โคก หนอง นา โมเดล มีการห่มดินเต็มพื้นที่โคกและคันนาทองคำ ปลูกหญ้าแฝกรอบหนอง หลังขุดหนองได้ 2 สัปดาห์ รองรับน้ำได้แล้วเกินครึ่ง น้ำใสเขียวขจี ตะพักน้ำมีความสวยงาม มีความอุดมสมบูรณ์ สร้างความน่าสนใจให้กับลูกค้าที่มาซื้อสินค้า ได้เยี่ยมชมแปลงโคก หนอง นา พช. ต่อไป
4. โคก หนอง นา พช.แปลง 1 ไร่ของนายมนตรี หนูอ่อน ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลโคกสัก กำลังดำเนินการขุดแปลง โดยมีนายช่างจากเทศบาลตำบลท่ามะเดื่อ คอยดูแลการขุดอย่างใกล้ชิด ตามแบบแปลงมาตรฐานของกรมการพัฒนาชุมชน และมุ่งหวังให้ครัวเรือนได้ใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด
5. โคก หนอง นา พช.แปลง 3 ไร่ของน.ส.อัมรา สังข์ทอง ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลโคกสัก โดยเจ้าเจ้าของแปลงบอกว่า เดิมเนื้อที่ตรงนี้เป็นที่ลุ่มและน้ำท่วมขัง ใช้ประโยชน์ได้น้อย แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการ โคก หนอง นา พช. ขุดเสร็จแล้วสวยงาม ทำให้รู้สึกดีใจมากๆ ที่สามารถจะบริหารจัดการเนื้อที่ได้ ทั้งยังสามารถปลูกพืช ผัก ได้อย่างหลากหลาย รวมทั้งเลี้ยงสัตว์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารได้ และเป็นศูนย์เรียนรู้ให้คนในชุมชนต่อไป
6. โคก หนอง นา แปลง 3 ไร่ของนายทวี เสนแก้ว ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลโคกสัก ซึ่งมีการขุดหลุมหนองลึกที่สุดถึง 8 เมตร ทั้งสองหนองเนื่องจากเป็นพื้นที่เนินสูง และลาดเอียง โดยเจ้าของแปลงมีความตั้งใจที่จะเข้าร่วมโครงการ โคก หนอง นา โมเดล พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเนื้อที่จากปลูกยางพารา มาเป็นโคก หนอง นา สร้างความหลากหลายให้มีผลผลิตต่อพื้นที่มากกว่าการทำสวนยาง เนื่องจากยาง 3 ไร่ ผลผลิตต่อปี 3,000 บาทต่อไร่ เมื่อปรับแปลงแล้วมีการวางแผนจะเลี้ยงปลาในบ่อ ปลูกพืชผัก ที่หลากหลาย มีการทำเกษตรแบบผสมผสาน ผลผลิตต่อปีจะเพิ่มขึ้นอีก 5 เท่า
จะเห็นได้ว่า ในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ที่จะช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถฟื้นตัว และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เมื่อเทียบกับการลงทุนในด้านอื่นๆ ถือว่ามีความเสี่ยงที่น้อย แต่กลับได้ผลประโยชน์อย่างคุ้มค่าและทั่วถึง ตามหลักทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นหลักประกันในการสร้างเศรษกิจฐานรากให้มั่นคง ซึ่งรัฐบาลก็ยังให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนโครงการฯ ดังกล่าว จากการได้รับอนุมัติงบประมาณกว่า 4,700 ล้านบาท ภายใต้งบเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ยกระดับขีดความสามารถของชุมชนให้พึ่งตัวเองได้อย่างยั่งยืน