กรมอนามัย ผนึกกำลังภาคีขับเคลื่อนมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิตควบพัฒนางานอนามัยสิ่งแวดล้อม สร้างคนไทยสุขภาพดีชีวีมีสุข

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิตและเผยแพร่องค์ความรู้ และการพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานบริการสาธารณสุขตามเกณฑ์ GREEN & CLEAN Hospital เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้งานอนามัยแม่และเด็ก พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการดำเนินงานพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงาน GREEN & CLEAN Hospital ของโรงพยาบาลในเขตพื้นที่รับผิดชอบศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี

วันที่ 17 ธันวาคม 2561 แพทย์หญิงพรรณพิมล  วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมขับเคลื่อนมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต และการพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานบริการสาธารณสุขตามเกณฑ์ GREEN & CLEAN Hospital ณ โรงแรมกรุงศรี ริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเป็นประเทศ     ที่มั่นคง มีความมั่งคั่ง ยั่งยืน ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน สร้างคนไทยรุ่นใหม่ 4.0 ในศตวรรษ     ที่ 21 ให้มีสุขภาพแข็งแรงปราศจากโรค โดยกรมอนามัย ได้กำหนดนโยบายด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์และยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเริ่มดูแลประชาชนไทยตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิจนถึงอายุ 2 ปี หรืออยู่ในช่วง 1,000 วันแรกของชีวิตที่ต้องให้ความสำคัญกับโภชนาการที่ดีตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต เป็นช่วงวัยทองของเด็กที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาสมอง เพราะโครงสร้างสมองจะมีการพัฒนาสูงสุด ทั้งการสร้างเซลล์สมองและการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์สมองเกิดเป็นโครงข่ายใยประสาทนับล้านโครงข่าย และการที่เซลล์สมองมีการเชื่อมต่อกันทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างเซลล์อย่างมีประสิทธิภาพ มีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก ส่งผลต่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการเตรียมความพร้อมของสตรีระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด      ไปจนกระทั่งเด็กอายุ 2 ปี จะเป็นตัวกำหนดสุขภาพและโรคในอนาคตได้ นอกจากนี้ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการดำเนินงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม เพราะถ้าประชาชนไทยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีก็ส่งผลต่อการมีสุขภาพที่ดีเช่นกัน

“ทั้งนี้ การประชุมขับเคลื่อนมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต และการพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานบริการสาธารณสุขตามเกณฑ์ GREEN & CLEAN Hospital โดยกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาความเข้มแข็งของระบบอนามัยสิ่งแวดล้อมชุมชนอย่างยั่งยืน ได้แก่ 1) การพัฒนาตำบลให้มีชุมชนที่มีศักยภาพด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม 2) การพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมของโรงพยาบาลตามเกณฑ์ GREEN & CLEAN Hospital และจัดการมูลฝอยติดเชื้อได้อย่างถูกต้อง 3) การสนับสนุนจังหวัดให้มีระบบการจัดการปัจจัยเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 4) การสนับสนุนให้ตำบลมีการจัดการน้ำบริโภคได้มารฐานตามเกณฑ์คุณภาพน้ำบริโภค และจัดการสิ่งปฏิกูลได้อย่างปลอดภัยและ 5) มีการเฝ้าระวังฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ซึ่งประเด็นดังกล่าวล้วนส่งผลโดยตรงถึงสุขภาพอนามัยของประชาชนทั้งสิ้น ดังนั้น กรมอนามัยจึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชนร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการขับเคลื่อนมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต และเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับงานอนามัยแม่และเด็ก รวมทั้งกำหนดแนวทางการดำเนินงานพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงาน GREEN & CLEAN Hospital ของโรงพยาบาลในเขตพื้นที่รับผิดชอบศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี โดยมี แพทย์ พยาบาลวิชาชีพ และนักวิชาการสาธารณสุขที่รับผิดชอบ จำนวน 400 คน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ทางด้านแพทย์หญิงไสววรรณ  ไผ่ประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์แม่และเด็กในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 4 ในปี 2561 (ตุลาคม 2560 – สิงหาคม 2561) พบมารดาเสียชีวิต จำนวน 10 ราย จำแนกเป็นสาเหตุโดยตรงจำนวน 4 ราย และสาเหตุโดยอ้อม จำนวน 6 ราย จากการวิเคราะห์ปัญหาในพื้นที่พบว่าการดำเนินงานเชิงรุกค้นหาหญิงตั้งครรภ์ในบางพื้นที่ยังไม่ครอบคลุม หญิงตั้งครรภ์ไม่มาฝากครรภ์หรือฝากครรภ์ล่าช้า ทักษะการคัดกรองและดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงในคลินิกฝากครรภ์ บางส่วนค้นหาไม่พบและบริหารจัดการหญิงตั้งครรภ์เสี่ยงยังไม่ได้คุณภาพ รวมถึงการส่งต่อหญิงวัยเจริญพันธุ์และหญิงตั้งครรภ์ที่มีโรคทางอายุรกรรม ควรต้องพบแพทย์ทุกราย นอกจากนี้การสำรวจสถานการณ์เด็กปฐมวัยในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 4 ในปี 2561 (ตุลาคม 2560 – มิถุนายน 2561) พบว่าเด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสมวัย ร้อยละ 96.53 ดังนั้น การสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายในพื้นที่ ร่วมคิด วิเคราะห์ ทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานการดำเนินงานด้านงานอนามัยแม่และเด็กควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องด้วยการผลักดันให้เครือข่ายในระดับพื้นที่มีความเข้มแข็ง จะสามารถทำให้ประชาชนเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพของตนเองได้

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/