กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับเครือข่ายต่างประเทศ แลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาการใช้สมุดสีชมพู ในเวทีสัมมนาวิชาการอนามัยแม่และเด็กฯ พร้อมรับรอง “ปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก” เพื่อผลักดันความรอบรู้ด้านสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ แม่ และสมาชิกในครอบครัว เพื่อดูแลสุขภาพเด็ก
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การสัมมนาวิชาการอนามัยแม่และเด็ก “สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กระดับนานชาติ” ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 12 – 14 ธันวาคม 2561 ในครั้งนี้ นับเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประเทศไทยและเครือข่ายต่างประเทศเพื่อร่วมอภิปรายความสำคัญและยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับครอบครัวในการส่งเสริมความมหัศจรรย์ของ 1000 วันแรกแห่งชีวิต ถือเป็นนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ต้องการสร้างคนไทยรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21 ให้สุขภาพแข็งแรงและปราศจากโรค จึงต้องให้ความสำคัญกับโภชนาการที่ดีตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต เป็นโอกาสทองในการพัฒนาเด็กให้มีสุขภาพและศักยภาพที่ดี ทั้งนี้ ช่วงเวลาตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนถึงอายุ 3 ขวบ คือช่วงสำคัญสำหรับทั้งแม่และเด็ก ปัจจัยด้านการบริโภคตามโภชนาการที่เหมาะสม สิ่งเร้า และสภาพแวดล้อมนั้นส่งผลต่อศักยภาพในการเติบโต การเรียนรู้ การทำงาน และการบรรลุผลสำเร็จในการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีในชีวิต ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรทุกกลุ่มวัยภายในปี 2573
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า การสัมมนาวิชาการอนามัยแม่และเด็กฯ ครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย ได้รับเกียรติจากเจ้าหญิงคิโกะ อากิชิโนะ เสด็จพระราชดำเนินทรงร่วมพิธีเปิดการประชุมพร้อมปาฐกถาพิเศษสะท้อนให้เห็นการใช้สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถูกนำมาใช้ทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2491 เพื่อเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าในการใช้ส่งเสริมสุขภาพของแม่และเด็ก พร้อมผลักดันให้หญิงตั้งครรภ์ทุกสาขาวิชาชีพได้ใช้สมุดดังกล่าว เช่นเดียวกับเจ้าหญิงที่ใช้สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กในการดูแลสุขภาพของพระธิดาและพระโอรส ทั้ง 3 พระองค์ สำหรับประเทศไทยเริ่มใช้สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กหรือที่รู้จักในชื่อสมุดสีชมพูตั้งแต่ปี 2528 ในการเฝ้าระวังสุขภาพด้วยตนเองและเป็นเครื่องมือของหญิงตั้งครรภ์ในการดูแลสุขภาพและการเลี้ยงดูบุตร เพื่อให้มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง มีพัฒนาการสมวัย และได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งล่าสุดในปี 2558 โดยพัฒนาสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กรูปแบบใหม่สำหรับผู้ปกครอง เพื่อส่งเสริมแนวทางการคัดกรองพัฒนาการเด็กใน 2 รูปแบบ คือ1) เป็นคู่มือการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย DSPM สำหรับเด็กปกติ และ 2) เป็นคู่มือประเมินและส่งเสริมพัฒนาการเด็กกลุ่มเสี่ยง DAIM ได้แก่ ทารกแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เป็นต้น
“ผลสำเร็จจากการสัมมนาตลอดระยะเวลา 3 วัน กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยในฐานะหน่วยงานหลักที่ส่งเสริมการใช้สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก ได้ร่วมกับเครือข่ายต่างประเทศที่ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน ประกาศรับรอง “ปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก” ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับครอบครัวในการส่งเสริมความมหัศจรรย์ของ 1000 วันแรกแห่งชีวิต (MCH Handbook as a family-based tool to promote the miracle of first 1000 days.) เพื่อแสดงให้เห็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ที่จะผลักดันให้สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก เป็นความสำคัญลำดับแรกในการบริการสุขภาพในหน่วยบริการอนามัยสำหรับแม่ และเป็นแนวทางสำหรับครอบครัวในการใช้เพื่อพัฒนาความรอบรู้ด้านการดูแลสุขภาพแม่และเด็กโดยเฉพาะในช่วง 1,000 ของชีวิต พร้อมทั้งให้สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กในศตวรรษที่ 21 นี้ ได้เปิดรับนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มโอกาสด้านความร่วมมือต่าง ๆ ยกระดับการใช้งานและความครอบคลุมที่เหมาะสมสำหรับผู้ใช้เพื่อส่งเสริมพัฒนาเด็กแรกเกิดในด้านความเป็นอยู่ที่ดีตลอดช่วงชีวิตต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ