จังหวัดเชียงใหม่ ประกวดผู้นำการเปลี่ยนแปลงดีเด่น ระดับเขตตรวจราชการ ประจำปี 2564

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 เวลา 09.00 น.นายอาจณรงค์ สัตยพานิช ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน (หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน) เป็นประธานการประกวดผู้นำการเปลี่ยนแปลงดีเด่น ประจำปี 2564 ตามโครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 พร้อมด้วย นางอภิญญา โกมลรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง นางอัญชลี ป่งแก้ว หัวหน้างานพัฒนาทรัพยากรบุคคล และ สิบตำรวจโทหญิง วิลัยพร เปรมอ่อน ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน เขตตรวจราชการที่ 15 ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ Zoom Cloud Meeting ณ ศูนย์ศึกษาพัฒนาชุมชนลำปาง จังหวัดลำปาง

โครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นโครงการที่กรมการพัฒนาชุมชน ได้ให้ความสำคัญในการเสริมสร้างผู้นำชุมชนโดยการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในระดับต่าง ๆ ให้ผู้นำชุมชนมีความรู้คู่คุณธรรม สามารถบริหารจัดการชุมชนของตนเองได้ และเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้นำชุมชนให้สามารถบูรณาการงานพัฒนาชุมชนนำไปสู่การพึ่งตนเองได้

2. เพื่อใช้พลังชุมชนในการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม และสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน ในภาวการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid – 19)

เพื่อให้เกิด 3 สร้าง ได้แก่

1) สร้างความมั่นคงทางอาหาร

2) สร้างสิ่งแวดล้อมยั่งยืน

3) สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน/ชุมชน

ในการนี้ นายเจริญ สีวาโย พัฒนาการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นางสโนไวท์ สุขทวีสถิตกุล ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน นางลัดดา พรหมเมือง ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน นางยุพา จันดี พัฒนาการอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ และนักวิชาการพัฒนาชุมชนจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ และทีมงานนักการตลาดรุ่นใหม่ (OTOP New Gen) เข้าร่วมนำเสนอข้อมูล

จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมการประกวดผู้นำการเปลี่ยนแปลงดีเด่น ระดับเขตตรวจราชการที่ 15 ณ บริเวณบ้านบวกครก หมู่ที่ 2 ตำบลหนองตอง อำเภอหางดง

จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายสมศักดิ์ คณาคำ นายอำเภอหางดง ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ และนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่อำเภอหางดง คณะกรรมการประกวดจากกรมการพัฒนาชุมชน

หลังจากนั้นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ในพื้นที่ ได้ร่วมกันนำเสนอผลการขับเคลื่อนงานตามโครงการเสริมสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยการนำเสนอด้วยวีดีทัศน์ และแบบ Live สด เพื่อให้คณะกรรมการได้ดูงานในพื้นที่บ้านบวกครก จำนวน 4 จุด ดังนี้

จุดที่ 1 จุดนำเสนอข้อมูล บริเวณวัดพระเจ้าเหลื้อม บ้านบวกครก โดยผู้นำชุมชนในตำบลหนองตอง

จุดที่ 2 นำเสนอโดยวีธีการ Live สด “ตู้กับข้าวยาวเป็นกิโล” หรือถนนกินได้ (เป็นการใช้ที่ว่างสร้างอาหาร โดยเป็นริมขอบถนนบริเวณคลองชลประทานที่ผ่านหมู่บ้าน มีการปลูกพืชผักสวนครัว ได้แก่ ถั่วฝักยาว บวบ ผักกาด ผักบุ้ง เป็นต้น) จุดนี้ ให้ครัวเรือนรับผิดชอบดูแลบริเวณจุดหน้าบ้านของตน และเมื่อมีผลผลิต ชาวบ้านในหมู่บ้านสามารถนำไปประกอบอาหารได้ทุกครัวเรือน

จุดที่ 3 นำเสนอโดยวีธีการ Live สด เป็นครัวต้นแบบ และศูนย์ขยายเมล็ดพันธ์ ครัวเรือนมีการสร้างความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากมีการปลูกผัก และเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา สำหรับบริโภค และมีการจัดการขยะที่สามารถนำไปเป็นปุ๋ยหมักได้

จุดที่ 4 นำเสนอโดยวีธีการ Live สด เป็นครัวเรือนต้นแบบ (มีการปลูกผักสวนครัวมากกว่า 10 ชนิด) ครัวเรือนมีการแบ่งปันกล้าพันธุ์ผักสำหรับคนในหมู่บ้านได้
จากการขับเคลื่อนโครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายการพัฒนา เช่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ภายใต้ภาวะวิกฤตเช่นนี้ มีสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้น ภายในชุมชน ได้แก่

1. การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน

2. ความรัก ความสามัคคีของคนในชุมชน

3. ชุมชนมีความสามารถในการบริหารจัดการตนเองได้ เกิดความเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

4. เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

5. ความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชนที่มีต่อภาครัฐ ที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูล

ทั้งนี้ นายเจริญ สีวาโย พัฒนาการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง ของกรมการพัฒนาชุมชน เป็นโครงการ ที่ดีมากเพราะสามารถตอบโจทย์ และเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องอาหารของพี่น้องประชาชนในภาวะวิกฤติ เช่นนี้ ได้ดี ซึ่งบ้านบวกครก หมู่ที่ 2 ตำบลหนองตอง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่มีการขานรับนโยบายของกรมการพัฒนาชุมชน ได้เป็นอย่างดี หมู่บ้านมีการปรับตัวภายใต้สภาวะการณ์ การแพร่ระบาดของ Covid 19 ทำให้คนในหมู่บ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้

เนื่องจากได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต รู้จักปรับตัว โดยการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารทุกครัวเรือน และผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชนยังรู้จักใช้ที่ว่างบริเวณริมถนนที่กว้างแค่คืบ ไปปลูกผักสวนครัวเพื่อเป็นคลังอาหาร สำหรับคนในหมู่บ้านและยังมีปริมาณมากพอที่จะดูแลคนได้ทั้งตำบล นอกจากนี้ ยังมีการขยายผลไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ ในตำบล อีกด้วย

///////////////////////////
วิญญู บุญสุวรรณ // ภาพ : ข่าว
ทีมกลุ่มงานสารสนเทศฯ สนง.พัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่