กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศแจ้งความคืบหน้าการให้สัตยาบัน RCEP ล่าสุด! สิงคโปร์และจีน ได้ยื่นให้สัตยาบันแล้ว ประเทศสมาชิกอื่นกำลังดำเนินกระบวนการภายใน ส่วนไทย 3 หน่วยงานกำลังออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง คาดแล้วเสร็จและยื่นให้สำนักงานเลขาธิการอาเซียนได้ ภายใน ต.ค. นี้ ตั้งเป้ามีผลบังคับใช้ได้ทันภายในปีนี้ ชี้! ไทยจะได้ประโยชน์ชัดเจน โดยเฉพาะการเปิดตลาดเพิ่มเติมจากเกาหลี ญี่ปุ่น และจีน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากที่สมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ประกอบด้วย อาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ร่วมลงนามความตกลง RCEP เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 โดยล่าสุด สิงคโปร์และจีนได้ยื่นให้สัตยาบันความตกลง RCEP ต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนแล้ว สำหรับประเทศสมาชิกที่เหลือรวมทั้งไทยอยู่ระหว่างเร่งดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันความตกลงโดยเร็ว ทั้งนี้ เมื่อสมาชิกอาเซียน อย่างน้อย 6 ประเทศ และสมาชิกนอกอาเซียน อย่างน้อย 3 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันความตกลง RCEP ครบแล้ว จะส่งผลให้ความตกลงมีผลใช้บังคับหลังจากนั้น 60 วันทันที ซึ่งสมาชิกตั้งเป้าที่จะดำเนินการให้ทันภายในสิ้นปีนี้
นางอรมน กล่าวว่า ในส่วนของไทย หลังจากที่รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบผลการเจรจาความตกลง RCEP เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปัจจุบันหน่วยงานของไทยอยู่ระหว่างออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศุลกากร อยู่ระหว่างออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องอัตราภาษีศุลกากรที่จะเก็บกับสมาชิก RCEP กรมการค้าต่างประเทศ อยู่ระหว่างปรับระบบการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลง RCEP และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างออกประกาศเรื่องเงื่อนไขการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ภายใต้ความตกลง RCEP เมื่อทั้ง 3 หน่วยงานดำเนินการเสร็จแล้ว ไทยก็จะสามารถยื่นให้สัตยาบันต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนได้ทันที ซึ่งคาดว่าภายในเดือนตุลาคมนี้
นางอรมน เพิ่มเติมว่า ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดจากความตกลง RCEP ที่มีต่อการส่งออกของไทย คือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน จะลดหรือยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกของไทยหลายรายการ เพิ่มเติมจากการเก็บกับไทยในปัจจุบัน และเพิ่มเติมจาก FTA อาทิ เกาหลีใต้ จะลดภาษีศุลกากรให้กับผลไม้สดหรือแห้ง (อาทิ มังคุด และทุเรียน) และผลไม้และลูกนัตอื่นๆ แช่แข็ง จาก 8-45% เหลือ 0% ภายใน 10-15 ปี น้ำสับปะรด จาก 50% เหลือ 0% ภายใน 10 ปี และสินค้าประมง อาทิ ปลาสด/แช่เย็น แช่แข็ง และปลา/กุ้งแห้ง ใส่เกลือหรือแช่น้ำเกลือ จาก 10-35% เหลือ 0% ภายใน 15 ปี ญี่ปุ่น จะลดภาษีศุลกากรให้กับผักปรุงแต่ง อาทิ มะเขือเทศ ถั่วบีน หน่อไม้ฝรั่ง และผงกระเทียม จาก 9-17% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี สับปะรดแช่แข็ง จาก 23.8% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี และกาแฟคั่ว จาก 12% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี และจีนจะลดภาษีศุลกากรให้กับสับปะรดปรุงแต่ง น้ำสับปะรด น้ำมะพร้าว และยางสังเคราะห์ จาก 7.5-15% เหลือ 0% ภายใน 20 ปี ชิ้นส่วนยานยนต์ (อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่างหรือให้สัญญาณ และที่ปรับกระจกในรถยนต์) ลวดและเคเบิ้ล สำหรับชุดสายไฟที่ใช้ในรถยนต์ จาก 10% เหลือ 0% ภายใน 10 ปี
ทั้งนี้ ในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับสมาชิก RCEP มูลค่า 7.87 ล้านล้านบาท (57.5% ของการค้ารวมของไทย) เป็นการส่งออกมูลค่า 3.83 ล้านล้านบาท (53.3% ของการส่งออกไทยไปโลก) ตลาดส่งออกสำคัญของไทย คือ อาเซียน จีน และญี่ปุ่น สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และผลไม้สด แช่เย็นและแช่แข็ง
สำหรับผู้สนใจข้อมูลเกี่ยวกับความตกลง RCEP สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ RCEP Center กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โทร. 0 2507 7555 หรือเว็บไซต์ www.dtn.go.th
14 พฤษภาคม 2564