พด. จับมือ มก. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “ขับเคลื่อนและขยายผลการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาค: เครือข่าย นโยบาย กลยุทธ์ และสถาบัน”

วันที่ 12 ธันวาคม 2561 กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัด ประชุมเชิงปฏิบัติการ “การขับเคลื่อนและการขยายผลการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาค: เครือข่าย นโยบาย กลยุทธ์ และสถาบัน” (Sustainable Land Management (SLM) Partnerships and Mainstreaming SLM into Policies, Strategies and Institutions at National Level)” ภายใต้โครงการ Decision Support for Mainstreaming and Scaling out of Sustainable Land Management – Thailand (DS-SLM) ที่กรมพัฒนาที่ดิน ร่วมดำเนินการกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ สมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการดำเนินการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย ความเสื่อมโทรมของที่ดินและภัยแล้งในระดับโลกโดยทำให้มาตรการ/แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนที่ได้ประเมินรับการขับเคลื่อนและขยายผล รวมทั้งเสนอต่อผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในเชิงนโยบาย และพัฒนาระบบนิเวศเพื่อให้ได้รับการบริการจากระบบนิเวศมากขึ้น และเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับชาติ นอกจากนี้ยังส่งเสริม การดำเนินกิจกรรมด้านการจัดการที่ดิน เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากความเสื่อมโทรมของที่ดิน และภัยแล้ง ทั้งนี้ปัญหาความเสื่อมโทรมของที่ดิน ภัยแล้ง และการแปรสภาพเป็นทะเลทรายเกิดขึ้นต่อเนื่องและมีความรุนแรงมากขึ้น จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญและร่วมมือในการป้องกัน ลดผลกระทบและฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของที่ดิน รวมทั้งสนับสนุนมาตรการ การจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยพัฒนาที่ดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ใช้ที่ดินตามศักยภาพ และพัฒนาความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ สร้างความมั่นคงทางอาหาร และความยั่งยืนในการใช้ที่ดินต่อไป

ภาพรวมในการดำเนินงานของโครงการให้ความสำคัญในประเด็นต่อไปนี้

  • การพัฒนาแผนงานเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมโครงการ รวมทั้งการขับเคลื่อนและขยายผลมาตรการการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน
  • การประเมินความเสื่อมโทรมของที่ดินและมาตรการการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนในระดับประเทศและในระดับพื้นที่
  • การพัฒนาแผนการขับเคลื่อนมาตรการการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนในระดับพื้นที่ โดยพิจารณาความสอดคล้องกับทิศทางและนโยบายของพื้นที่ รวมทั้งองค์กรและหน่วยงานที่จะร่วมดำเนินงาน
  • การสาธิตมาตรการการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน
  • การจัดการองค์ความรู้และพัฒนาหุ้นส่วนในการดำเนินงาน

ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า

โครงการ DS-SLM ให้ความสำคัญกับการพัฒนา เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการใช้ที่ดิน ครอบคลุมทั้งด้านนโยบาย ด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม เครือข่าย และการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อจะเป็นฐานข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจของ ผู้กำหนดนโยบายในการตัดสินใจ หรือวางแผนในการพัฒนาทรัพยากรที่ดินต่อไป

ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การขับเคลื่อนและการขยายผลการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาค: เครือข่าย นโยบาย กลยุทธ์ และสถาบัน” ในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร. อภิสิทธิ์ เอี่ยมหน่อ ผู้เชี่ยวชาญภูมิสารสนเทศ ศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิดประชุมฯ และ ดร. วิศิษฐ์ งามสม ผู้อำนวยการกลุ่มงานอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย กองแผนงาน กล่าวรายงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

1) ให้ความรู้และความเข้าใจถึงความสำคัญของการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน  เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการขับเคลื่อนและการขยายผลการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาคอย่างเหมาะสม

2) แลกเปลี่ยนหารือ ระดมความคิดเห็น ในการบ่งชี้ปัญหา อุปสรรค และโอกาส ตลอดจนแนวทางการดำเนินงานการขับเคลื่อนและขยายผลการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาค

3) กระชับความความร่วมมือระหว่างองค์กรและสร้างภาคีความร่วมมือในการขับเคลื่อนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม

ในการประชุมฯ ประกอบด้วยกิจกรรมการบรรยายและการระดมความคิดเห็น รวมทั้งการแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยในช่วงเช้าเป็นการบรรยาย การประเมินความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดินและที่ดินของประเทศไทย การจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนของประเทศไทย และการอภิปรายกลุ่มย่อย เกี่ยวกับการร่วมกันประเมินและสร้างความตื่นตัวกับสถานการณ์ความเสื่อมโทรมจากการใช้ทรัพยากรที่ดินกับการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนและการขับเคลื่อนและขยายผล  สำหรับในช่วงบ่าย เป็นการอภิปรายกลุ่มย่อยในประเด็น

  • การร่วมกันค้นหาอุปสรรค และโอกาส พร้อมวิธีการในการผลักดันให้เกิดการนำการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนมาใช้ให้แพร่หลาย
  • การร่วมกันเสนอแนะแนวทาง วิธีการ และมาตรการที่จะทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรผู้ใช้ที่ดิน
  • การร่วมกันเสนอแนะมาตรการสร้างแรงจูงใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กลไกทางการตลาด และนวัตกรรมทางการตลาดที่จะนำมาใช้ส่งเสริมการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ คือ วางแนวทางและกลไกที่เป็นรูปธรรมในการดำเนินงานขับเคลื่อน และขยายผลการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน ในระดับประเทศด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม เผยแพร่องค์ความรู้ และเครื่องมือที่ใช้ในการขับเคลื่อนและขยายผลการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน ให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ และเป็นการเริ่มต้นสร้างภาคี ความร่วมมือ องค์กรหลักเป้าหมาย และผู้มีส่วนสนับสนุนในการดำเนินการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนของประเทศ

โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ในด้านนโยบาย กลยุทธ์ และสถาบันด้านเศรษฐกิจและการเงิน รวมทั้งด้านความรู้และเทคโนโลยีการจัดการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ทั้งหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา ที่ปรึกษา FAO ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ นักวิชาการ ภาคเอกชน องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร และภาคประชาชน จำนวน 70 ท่าน ณ โรงแรมไมด้า ทวารวดี แกรนด์ นครปฐม จังหวัดนครปฐม

รายงาน/ภาพ :  พัชนี  เค้ายา  นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 4 กรมพัฒนาที่ดิน