แฟชั่นนิสต้าสังเกตกันหรือไม่ว่าโลกของแฟชั่นในปัจจุบันหมุนเร็วมากขึ้น เพราะรันเวย์ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคชอบซื้อเสื้อผ้าในราคาย่อมเยา ซื้อใส่ครั้งเดียวทิ้งแบบไม่เสียดาย สนุกไปกับการแต่งตัวที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ กลายเป็นแฟชั่นรวดเร็ว หรือแฟชั่นแบบด่วน ๆ (Fast Fashion) คนยุคใหม่ติดนิสัยเบื่อง่าย ตามแฟชั่น ซื้อเร็ว เปลี่ยนเร็ว อุตสาหกรรมแฟชั่นก็ปรับตัวตาม แบรนด์ชั้นนำหลั่งไหลถาโถมเข้ามาในบ้านเรากันอย่างคึกคัก ต่างแข่งขันกันเร่งสปีดความเร็ว ขยันออกแบบเสื้อผ้าคอลเลคชั่นใหม่ ๆ เพื่อเอาใจขาช๊อปจากแต่เดิม สินค้าแฟชั่น อาจมีเพียง 3-4 ฤดูกาลหลักเท่านั้น แต่ทุกวันนี้อาจมีมากถึง 6-8 ฤดูกาล และยังไม่นับคอลเลคชั่นย่อยๆ ที่ถูกเพิ่มเข้าไปในทุกๆสองสัปดาห์ การปรับเปลี่ยนดิสเพลย์สินค้าหน้าร้าน และการหมุนเวียนสับเปลี่ยนการจัดวางสินค้าในร้านทุกๆสัปดาห์ เพื่อให้มีความสดใหม่และสร้างความตื่นเต้นให้ลูกค้า แต่ทราบหรือไม่ว่าการผลิตเสื้อหนึ่งตัวส่งผลกระทบต่อสังคมและโลกใบนี้อย่างคาดไม่ถึง ในอุตสาหกรรมสิ่งทอเริ่มจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ตั้งแต่กระบวนปลูก ฟอก ย้อมเส้นใยไปโรงงานผลิต ตัดเย็บ ตลาด ขนส่ง จัดจำหน่ายจนถึงมือผู้บริโภคนั้น เกิดการสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติและเผาผลาญพลังงานมหาศาล มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และสร้างมลพิษอย่างต่อเนื่อง เมื่อคนซื้อเสื้อผ้าบ่อยขึ้นก็ขนส่งกันถี่ขึ้น นำมาสู่ทำลายโลกและสิ่งแวดล้อมไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว นอกจากนี้การขยันซื้อข้าวของใหม่ตลอดเวลาทำให้เสื้อผ้าเก่ากลายเป็นขยะ ที่สำคัญยังกลายเป็นขยะพิษที่มาจากสารย้อม สารฟอกขาว และสารเคมีอื่น ๆ แถมยังย่อยสลายได้ยาก สามารถปนเปื้อนในน้ำ ดิน อากาศ กลับมาทำร้ายผู้บริโภคอีกโดยไม่รู้ตัว อีกทั้งการแข่งขันอย่างดุเดือดของ Fast Fashion ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบนำมาสู่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียมียอดขายของแบรนด์ Fast Fashion เติบโตมากกว่า 100% ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้บริโภคซึ่งเป็นชนชั้นกลางมีจำนวนและกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ประกอบกับปัจจัยด้านการตลาดที่เกื้อหนุน แคมเปญการตลาดผ่านสื่อต่าง ๆ ประสบความสำเร็จอย่างดี ทั้งงานอีเว้นท์แฟชั่นโชว์ ภาพถ่ายโฆษณาสินค้า หรือประชาสัมพันธ์ผ่านดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียง ซึ่งล้วนแล้วแต่จูงใจให้ผู้บริโภคซื้อตาม ดังนั้น Fast Fashion จึงอาจดูเหมือนเป็นสินค้าที่สวยเก๋ ทันสมัย และราคาถูก แต่ข้อด้อยคือ เมื่อราคานั้นถูกลงก็ส่งผลให้คุณภาพของสินค้านั้นต่ำลงด้วย และส่งผลให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าใหม่มาหมุนเวียนบ่อยขึ้น เพิ่มอัตราการจับจ่ายและปริมาณขยะมากขึ้นไปด้วย และเมื่อกดราคาสินค้าให้ต่ำ จึงต้องลดต้นทุนการผลิต อาจเกิดปัญหากดค่าแรงหรือใช้แรงงานเด็ก ประกอบกับในกระบวนการผลิตมีการใช้สารเคมีในปริมาณที่สูงส่งผลกระทบโดยตรงกับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม การปนเปื้อนสารตะกั่วอาจเกิดขึ้นได้ตลอดกระบวนการผลิต ตั้งแต่การใช้สารฆ่าแมลงและปราบศัตรูพืชในแปลงปลูก ไปจนถึงการผสมสารทนไฟในช่วงผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป อีกทั้งเสื้อผ้าทุกวันนี้ส่วนใหญ่มีส่วนผสมของเส้นใยสังเคราะห์จากปิโตรเลียม ซึ่งต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการย่อยสลาย และ Fast Fashion ยังส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคกระตุ้นให้ซื้อเสื้อผ้าใหม่บ่อยขึ้น มากขึ้น แต่กลับมีการใช้งานที่น้อยลง
จะกว่าหรือไม่หากผู้บริโภคเลิกวิ่งตาม Fast Fashion หันกลับไปหาแฟชั่นในแบบที่เราอยากแต่งและใช้งานได้จริง ๆ และอยู่ไปกับเราได้นานๆเป็นเสื้อผ้าชิ้นโปรดที่เราหยิบมาใส่ได้สม่ำเสมอ และยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยโลกให้กลับมาสดใสอีกครั้ง”