พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการดูแลลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ซึ่งกองทุนเงินทดแทนสำนักงานประกันสังคมได้ให้สิทธิค่ารักษาพยาบาลและเงินค่าทดแทนอย่างเต็มที่ ตนในฐานะผู้กำกับกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้หน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงแรงงาน ดูแลสอดส่องเรื่องความปลอดภัยในสถานประกอบการอย่างเข้มงวด เพื่อช่วยลดปัญหาลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน แต่อย่างไรก็ตาม ตนขอย้ำถึงหน้าที่เบื้องต้นของนายจ้างว่า หากลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงาน นายจ้างมีหน้าที่ต้องแจ้งการประสบอันตรายของลูกจ้างตามแบบแจ้งการประสบอันตราย (กท.16) พร้อมใบรับรองแพทย์เป็นอันดับแรก และสำเนาแบบส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาล (กท.44) ให้สำนักงานประกันสังคมพื้นที่/จังหวัด/สาขา ที่นายจ้างขึ้นทะเบียนไว้ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบการประสบอันตรายของลูกจ้าง และตนขอย้ำ กรณีลูกจ้างประสบอันตรายเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน สามารถส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลได้ทั้งรัฐบาลและเอกชน โดยมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ไม่เกิน 50,000 บาท ต่อการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 1 ครั้ง หากมีการบาดเจ็บรุนแรงหรือเรื้อรังตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดอัตรา ค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย ให้จ่ายเพิ่มได้อีก 100,000 บาท รวมแล้วไม่เกิน 150,000 บาท หากไม่เพียงพอสามารถจ่ายเพิ่มได้อีกรวมแล้วไม่เกิน 300,000 บาท หรือหากไม่เพียงพอสามารถจ่ายเพิ่มขึ้นได้อีก รวมแล้ว ไม่เกิน 500,000 บาท โดยตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์ และหากไม่เพียงพอสามารถจ่าย ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น แต่รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,000,000 บาท โดยคณะกรรมการการแพทย์พิจารณา คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนให้ความเห็นชอบ เว้นแต่ ลูกจ้างเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษา หรือกรณีมีความจำเป็นหรือมีเหตุสมควรที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรก แต่ภายหลังได้เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐ สามารถจ่ายค่ารักษาเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นจนสิ้นสุดการรักษาไม่เกิน 2,000,000 บาท ซึ่งในส่วนของลูกจ้าง เข้าทำการรักษาในสถานพยาบาลของเอกชนนั้น กองทุนเงินทดแทนจะจ่ายค่ารักษาเท่าที่จ่ายจริงในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท
รมว.แรงงาน กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากนี้ในกรณีลูกจ้างหยุดพักรักษาตัวจะได้รับสิทธิ เป็นค่าทดแทนการขาดรายได้กรณีต้องหยุดงานตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 เป็นค่าทดแทนการขาดรายได้ตามกฎหมายกองทุนเงินทดแทนฉบับใหม่อีกร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน โดยจ่ายตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างหยุดแต่ไม่เกิน 1 ปีอีกด้วย หากลูกจ้างมีปัญหาข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th
…………………………………….………………