“ผู้ว่าฯ สระแก้ว นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสระแก้ว ผู้นำต้นแบบปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร”

วันที่ 28 เมษายน 2564 เวลา 16.00 น. นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว พร้อมด้วย นางวริฐา จันทรา นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสระแก้ว นายถวิล ยี่สุ้นแสง พัฒนาการจังหวัดสระแก้ว พร้อมทีมงานเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน และบุคลากรศาลากลางจังหวัดสระแก้ว ร่วมกิจกรรมปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งดำเนินการปลูกพืชผักสวนครัว มากกว่า 10 ชนิด มาอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้นำต้นแบบตัวอย่างที่เห็นจริงในการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ณ บริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว

นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า ในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ 90 วันปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 ได้มีการน้อมนำแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร มาเป็นแนวทางปฏิบัติ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างพลังความต่อเนื่องในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และลดรายจ่าย สร้างรายได้ ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับกลุ่มอาชีพอย่างยั่งยืน ประกอบกับเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้พื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ จึงร่วมกันปลูกพืชผักสวนครัว เช่น ผักบุ้ง โหระพา คะน้า ผักชี กะเพรา พริก สาระแหน่ เป็นต้น

โดยกิจกรรมในวันนี้ ถือได้ว่าเป็นความร่วมมือที่สำคัญที่แสดงออกให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ต่อการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ 90 วันปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตให้ประชาชนปฏิบัติตาม มีผักปลอดภัยไว้รับประทานและประกอบอาหาร ปลูกผักที่กิน กินผักที่ปลูก มีพืชผักปลอดภัย ประหยัดรายจ่ายในครัวเรือน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่จะเป็นตัวช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถอยู่รอด มีคลังอาหารในครัวเรือน ซึ่งเป็นรากฐานการสร้างความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว มีครัวเรือนที่เข้าร่วมทั้งหมด 119,828 ครัวเรือน และปลูกแล้ว 108,117 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 90.23

การขับเคลื่อนครั้งนี้ ทำให้พี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ประหยัดรายจ่าย นอกจากนี้ยังเกิดการแบ่งปันกัน ช่วยเหลือ เอื้ออาทรประโยชน์ที่ได้มากกว่าการประหยัด คือ การรักษาสุขภาพ เพราะเป็นผักปลอดภัย เป็นการสร้าง “ความต่อเนื่องคือพลัง” ส่งเสริมการปลูกพืชผักเพิ่มเติม “ทำเป็นบ้านสานเป็นกลุ่ม” ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อบริหารจัดการผลผลิตส่วนเกินให้มีมูลค่าเพิ่ม “ชุมชนสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” สร้างจิตวิญญาณรักสิ่งแวดล้อม “จากวัฒนธรรม สู่นวัตกรรม” ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม ที่เกี่ยวข้องกับอาหารและของใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันจากพืชผัก อาหารรักษ์สุขภาพ อาหารรักษ์โลก ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรพื้นบ้าน นำไปสู่ “ชุมชนเกื้อกูล เพิ่มพูนสามัคคี วิถีพอเพียง” ที่สามารถดูแล ช่วยเหลือ และแบ่งปัน

การขับเคลื่อนครั้งนี้มุ่งหวังให้เกิดความมั่นคงทางอาหารอย่างแท้จริง ในทุกชุมชนทั่วประเทศ และสิ่งสำคัญคือเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ ส่งเสริมการเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ และได้มีการเชิญชวนส่วนราชการทุกท่าน ปลูกผักสวนครัว เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่พี่น้องประชาชนในจังหวัดสระแก้ว นำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมการปลูกพืชผักสวนครัวทุกครัวเรือน นำไปสู่ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป