กพร. กระทรวงแรงงาน รุกผลิตกำลังคน 10 จ. เขตศก.พิเศษ เป้า 9,200 คน เชียงราย พัฒนาช่าง 4.0 เชื่อมโยงการสื่อสาร
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าจากการที่พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้ กพร. กระทรวงแรงงาน ดำเนินโครงการเพิ่มทักษะกำลังแรงงานในพื้นที่ 10 จังหวัด ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด หนองคาย นครพนม เชียงราย กาญจนบุรี สงขลาและนราธิวาส นั้น สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ในพื้นที่ ได้มีฝึกอบรมในหลักสูตรที่สอดคล้องกับกิจการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในกลุ่มประเภทกิจการ 13 กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักร และชิ้นส่วน กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนการท่องเที่ยว เป็นต้น รวมถึงภาษาต่างประเทศและภาษาเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะคนทำงานในท้องถิ่น เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านอาชีพและรายได้ เตรียมความพร้อมวัยกำลังแรงงานโดยความอาศัยภาคีเครือข่ายประชารัฐทั้งจากภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในพื้นที่ในอนาคต มีผู้ให้ความสนใจเข้ารับการฝึกอบรมในสาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถยก ช่างเชื่อมไฟฟ้า ช่างเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ภาษากัมพูชาเพื่อการสื่อสาร เป็นต้น ได้ดำเนินการฝึกอบรมไปแล้ว 7,718 คน จากที่ตั้งเป้าเหมายไว้ที่ 9,200 คน คาดว่าจะฝึกอบรมได้เกินเป้าหมายไว้อย่างแน่นอน
นายบำรุง จามีกรรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 20 เชียงราย กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้สพร. 20 เชียงราย ได้ใช้แนวทางประชารัฐร่วมกับบริษัท ทีโอที จำกัด และบริษัท จำกัด มหาชน อินเตอร์ลิงค์ สาขาภาคเหนือ จัดหลักสูตรยกระดับฝีมือสาขาการตรวจซ่อมระบบเครือข่าย Fiber Optic (เส้นใยแก้วนำแสง) ภายใต้โครงการเพิ่มทักษะกำลังแรงงานในพื้นที่ 10 จังหวัด ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 2 รุ่น ให้กับช่างชุมชน ช่างในสถานประกอบกิจการ และประชาชนทั่วไป มีผู้เข้ารับการฝึกอบรม 48 คน ตลอดระยะเวลาการฝึกอบรม 18 ชั่วโมง จะได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติภายใต้หัวข้อความปลอดภัยในการตรวจซ่อมระบบเครือข่ายเส้นใยแก้วนำแสง การเข้าหัวสาย การสไปรท์สาย การเก็บสาย ปฏิบัติติดตั้งและตรวจซ่อม ตัวกระจายสัญญาณ wifi สร้างระบบงานผ่านบริการเน็ต เช่น การติดตั้งกล้องระบบ IP CCTV
“การฝึกอบรมในหลักสูตรดังกล่าว จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็น 1 ใน10 จังหวัดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ที่จะมีการเติบโตทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคม จึงมีความจำเป็นต้องการมีผลิตช่างฝีมือในสาขาต่างๆ รองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับกำลังแรงงานในการเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ด้วย สำหรับช่างติดตั้ง Fiber Optic กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในจังหวัดอย่างมาก เนื่องจากมีการติดตั้งเชื่อมต่อระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และระบบการรับส่งสัญญาณภาพในพื้นที่ต่างๆ เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสาร ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจและการบริการต่างๆ สร้างความปลอดภัย ลดอุบัติเหตุและสถานการณ์ที่ร้ายแรงลงได้ จึงเป็นอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมาก” ผู้อำนวยการสพร. 20 เชียงราย กล่าว