ชะลอความชราด้วยสมุนไพรไทย

1. สหประชาชาติระบุว่า ประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ในสัดส่วนเกินร้อยละ 10 ของประชากร ทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นก้าวสู่สังคมผู้สุงอายุโดยสมบูรณ์ (Aging Society) และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยสมบูรณ์แบบ (Aged Society) เมื่อสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นมากกว่า 60 ปี เกินร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ปี 2558 ประเทศไทยมีประชากรจำนวน 65,203,979 คน เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 10,569,021 คน ของประชากรทั้งหมด นั่นหมายความว่า ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว และคาดการณ์ว่าในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ โดยมีผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี เกินร้อยละ 20

2. ปัญหาสุขภาพที่มักเกิดในผู้สูงอายุ ได้แก่ ปัญหาการนอนไม่หลับ ทางการแพทย์แผนไทย จะแก้ปัญหานี้ด้วยการใช้พืชผักสมุนไพรที่มีรสขมหรือมีฤทธิ์เย็นมาปรุงเป็นอาหาร โดยเฉพาะอาหารมื้อเย็น เช่น ขี้เหล็ก สะเดา มะระขี้นก มะระจีน ผักเชียงดา ใบบัวบก เนื่องจากสมุนไพรรสขม จะช่วย ระบายความร้อนภายในร่างกาย ช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวล และช่วยนอนหลับ ได้สนิท ปัญหาด้านการมองเห็น จะใช้พืชผักสมุนไพรที่หลากสีมาปรุงเป็นอาหาร เช่น ผักบุ้ง ตำลึง ฟักทอง มะละกอสุก มะเขือเทศ ยอดฟักข้าว

เนื่องจากพืชผักสมุนไพรที่หลากสี มีสารต้านอนุมูลอิสระ อุดมไปด้วยวิตามินเอ และเบต้าแคโรทีน ซึ่งมีส่วนช่วยในการบำรุงดวงตา ชะลอความเสื่อมของดวงตาได้ ปัญหาท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ให้เน้นการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของสมุนไพร รสเผ็ดร้อน เช่น ขิง กระชาย ตะไคร้ พริกไทย กะเพรา โหระพา ขมิ้น ข่า เนื่องจากสมุนไพรรสเผ็ดร้อน มีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งช่วยในการขับลม บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยย่อย กระตุ้นการทำงานของระบบไหลเวียนเลือด และปัญหาเกี่ยวกับความแข็งแรงของกระดูกและฟัน ให้เน้นการรับประทาน พืชผักหรือสมุนไพรที่มีแร่ธาตุแคลเซียมสูง เช่น ปลาเล็กปลาน้อย ใบชะพลู งาดำ ใบยอ ยอดแคบ้าน ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง การรับประทานอาหารที่มีแร่ธาตุแคลเซียมสูงควบคู่ไปกับการรับวิตามินดี จากธรรมชาติโดยการออกกำลังกายกลางแจ้ง

เพื่อรับแสงแดดในตอนเช้าหรือตอนเย็น เนื่องจากวิตามินดีจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมไปใช้ในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟันเราทุกคนปรารถนาการมีสุขภาพที่ดี แข็งแรง ไม่เป็นโรค การดูแลสุขภาพด้วยการใช้สมุนไพรนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพ ถ้าหากจะให้ครบถ้วนทุกกระบวนการ ต้องเยียวยาสุขภาพทางจิตใจร่วมด้วย “ร่างกายที่แข็งแรง ต้องอยู่ร่วมกับจิตใจที่แข็งเกร่ง”

******************* อ้างอิง
1. มหาวิทยาลัยมหิดล สถายบันนวัตกรรมการเรียนรู้. ประเทศไทยกับสังคมผู้สูงอายุ. (ออนไลน์). สืบค้นวันที่ 8 กรกฎาคม 2563. เข้าถึงที่ : https://il.mahidol.ac.th/th/i-Learning-Clinic/general-articles/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B9/?fbclid=IwAR03nffrMoSlLtfEVsMTSwMtSqoog5f2UuQXl-aLFfMOgUcCUKa2HS7ZFF4

2. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. คู่มือการดูแลผู้สูงอายุด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน. เฟมัส แอนด์ ซัคเซ็สฟู. หน้า 1-23.