กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำไหลหลากในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และประจวบคีรีขันธ์ รวม 6 อำเภอ 22 ตำบล 116 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,322 ครัวเรือน ซึ่ง ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมระดมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยสนับสนุนระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำไหลหลากในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และประจวบคีรีขันธ์ รวม 6 อำเภอ 22 ตำบล 116 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,322 ครัวเรือน แยกเป็น นครศรีธรรมราช เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา อำเภอขนอม และอำเภอพรหมคีรี รวม 19 ตำบล 113 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,305 ครัวเรือน 18,270 คน ถนน 20 สาย สะพาน 6 แห่ง ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำทางการเกษตร สุราษฎร์ธานี เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ตำบลชลคราม อำเภอดอนสัก ประชาชนได้รับผลกระทบ 17 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง และ ประจวบคีรีขันธ์ เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ตำบลช้างแรก และตำบลบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย ซึ่งความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปภ. ได้ร่วมกับจังหวัด ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยสนับสนุนระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมถึงแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสภาพอากาศ ปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ พบว่า บริเวณภาคใต้ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม รวมถึงทะเลมีคลื่นลมแรงได้ในระยะนี้ ปภ.จึงได้ประสานจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เตรียมพร้อมรับมือ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด อีกทั้งจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกสะสม โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป