เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา นายกิติพล เวชกุล ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน อาจารย์รักษ์เผ่า พลรัตน์ และทีมงานจากสมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงพื้นที่จังหวัดนนทบุรี เพื่อติดตามและร่วมรับฟังปัญหา พร้อมเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานปรับรูปแบบแปลนโครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีรูปแบบใหม่ “โคก หนอง นา” พช. จังหวัดนนทบุรี โดยมี นางรักใจ กาญจนะวีระ พัฒนาการจังหวัดนนทบุรี ผู้อำนวยการกลุ่ม และพัฒนาการอำเภอ ร่วมประชุมและให้ข้อมูล ณ ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนนทบุรี ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี
หลังจากนั้น อาจารย์รักษ์เผ่า พลรัตน์ ทีมงาน ผู้ตรวจราชการกรมฯ และทีมงานพัฒนาชุมชน ได้ลงพื้นที่แปลงครัวเรือนต้นแบบที่จะดำเนินกาน “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อรับคำแนะนำและอ้างอิงการออกแบบตามหลักภูมิสังคม ให้มีความสอดคล้องกับพื้นที่ บริบทของจังหวัดนนทบุรี
โดยลงพื้นที่จำนวน 9 แปลง ในพื้นที่ 5 อำเภอ ดังนี้
1. นายสินชัย ทองมั่ง ม.6 ต.ราษฎร์นิยม อ.ไทรน้อย อยู่ในช่วงระหว่างดำเนินงานตามโครงการ โดยลักษณะพื้นที่เดิมเป็นร่องสวนที่ปรับพื้นที่รองรับการปรับแปลง ได้รับคำแนะนำให้ขุดใช้แปลนมาตรฐาน และขุดคลองไส้ไก่เพิ่ม เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ 2 ส่วน ภายในแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
2. น.ส.ลัดดาวัลย์ คำสม ม.1 ต.ปลายบาง อ.บางกรวย พื้นที่ค่อนข้างสมบูรณ์ สำหรับการปลูกพืชแบบผสมผสาน มีการจัดการพื้นที่สำหรับเก็บน้ำ และการเพาะปลูกอย่างเป็นระบบแล้ว ได้รับคำแนะนำให้ขุดคลองไส้ไก่เพิ่ม เพื่อลดปัญหาการระเหยของน้ำ และควรนำวิธีการห่มดินมาใช้ในแปลง และจัดทำน้ำหมักสมุนไพรรสจืด บำรุงพืช และลดความเค็มของน้ำ
3. นางกาญจนา ขาวเขียว ม.3 ต.บางแม่นาง อ.บางใหญ่ เป็นพื้นที่ทำการเกษตรแบบผสมผสานเต็มพื้นที่ ไม่สามารถขุดหนองเพิ่มได้ ได้รับคำแนะนำ ให้ขุดคลองไส้ไก่บนร่องสวนเพิ่มเติมเพื่อต้นไม้จะได้รับความชุ่มชื้นมากขึ้น
4. นางสาวเขมจิรา ปานกล่ำ ม.10 ต.บางแม่นาง อ.บางใหญ่ มีลักษณะเป็นพื้นที่ว่าง สามารถขุดบ่อแบบแปลนมาตราฐานและขุดคลองไส้ไก่ บนความลึกไม่เกิน 3 เมตร เพื่อความปลอดภัยของสภาพหนอง และสามารถบริหารพื้นที่แปลงได้เหมาะสม
5. นางสาวจิราลักษณ์ อาศัยราษฎร์ ม. 8 ต.บางกร่าง อ.เมืองนนทบุรี พื้นที่มีลักษณะเป็นพื้นที่สวน ปลูกพืชผักแบบผสมผสาน เชิงเกษตรอินทรีย์ ถือเป็นโคกหนองนา ฉบับนนทบุรี ปัญหาที่พบคือ มีน้ำเค็มเข้าพื้นที่ และไม่สามารถขุดบ่อเพิ่มได้ ได้รับคำแนะนำให้ขุดคลองไส้ไก่บนร่องสวน โดยใช้แรงงานคนขุด และสามารถปลูกข้าวบนร่องสวนได้ และเพิ่มการทำน้ำหมักรสจืด เพื่อลดความเค็มของน้ำและดิน
6. นายอำนาจพล แจ้งเจริญ ม. 1 ต.ศาลากลาง อ.บางกรวย พื้นที่มีหนองน้ำเดิมขนาดใหญ่ และมีการปลูกไม้ผลบางชนิดไว้ ปัญหาที่พบคือ ไม่สามารถขุดบ่อน้ำเพิ่มได้ คำแนะนำให้ขุดขยายด้านข้างหนองน้ำเดิมเพิ่มเติม เพื่อจัดแบบแปลนให้เกิดอัตลักษณ์ในพื้นที่และการใช้สอยเป็นไปตามวัตถุประสงค์มากขึ้น
7. นางเพียงจันทร์ คล้ายสำเนียง ม. 4 ต.บางแม่นาง อ.บางใหญ่ พื้นที่เป็นร่องสวนเต็มพื้นที่ ไม่สามารถขุดบ่อเพิ่มได้ ได้รับคำแนะนำให้ขุดคลองไส้ไก่เพิ่มเติม เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของน้ำภายในร่องสวน
8. นายเยื้อน แสงงาม ม.12 ต.คลองข่อย อ.ปากเกร็ด พื้นที่มีบ่อน้ำขนาดใหญ่ บีหารจัดการน้ำได้ ได้รับคำแนะนำ ขุดคลองไส้ไก่เพื่อเชื่อมโยงน้ำ ระหว่างบ่อใหญ่เดิม และบ่อที่หากประสงค์จะขุดเพิ่มขุดเพิ่ม
9. นายประจวบ เอี่ยมโสต ม.1 ต.บางพลับ อ.ปากเกร็ด พื้นที่ดำเนินการปลูกพืชแบบผสมผสาน ได้รับคำแนะนำแบบบ่อน้ำ ตามแบบมาตรฐานมาใช้ และสามารถลดขนาดบ่อลงให้เหมาะกับพื้นที่
จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ทำให้ครัวเรือนต้นแบบศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีรูปแบบใหม่ “โคก หนอง นา โมเดล พช.นนทบุรี” เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ทั้งการบริหารจัดการพื้นที่การเกษตร การบริหารจัดการน้ำ การบำรุงดิน รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินโครงการ เพื่อให้พื้นที่ครัวเรือนต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการได้รับทราบทิศทางการดำเนินโครงการฯ ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น มีความมั่นใจ และให้ความเชื่อมั่นที่จะร่วมดำเนินโครงการฯ กับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนนทบุรีให้ประสบความสำเร็จไปด้วยกัน ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนนทบุรี ได้ดำเนินการตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด
Change For Good
สถานีข่าว พช. นนทบุรี รายงาน…