กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่าต้านภัยมะเร็งเต้านม ขยายพื้นที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และบูรณางานกับมูลนิธิ พอ.สว. ให้สตรีไทยตรวจเต้านมด้วยตนเอง รู้ความผิดปกติ ลดความเสี่ยงเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม
วันที่ 7 ธันวาคม 2561 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพมหานคร ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่าต้านภัยมะเร็งเต้านม พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง “ความสำเร็จของการต้านภัยมะเร็งเต้านมของประเทศไทย” พร้อมกันนี้รองศาตราจารย์ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองประธานมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “พระราชปณิฐานของสมเด็จย่ากับการดำเนินงานของมูลนิธิถันยรักษ์ฯ”โดยมีผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานจากส่วนกลางและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศร่วมประชุมประมาณ 200 คน
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่าต้านภัยมะเร็งเต้านม ดำเนินการตั้งแต่ปี 2555 ให้หญิงไทยอายุ 30-70 ปี จำนวน 1.9 ล้านคน นำร่องใน 21 จังหวัด ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา สามารถค้นพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระยะเริ่มต้น และนำเข้าสู่กระบวนการรักษา ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวต่อว่า ขณะนี้ ได้ขยายการดำเนินงานเพิ่มอีก 55 จังหวัดให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รณรงค์ให้สตรีทุกคนตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ ควบคู่กับการบันทึกผลการตรวจลงใน “สมุดบันทึกการตรวจเต้านมตนเอง” เป็นประจำ มีการติดตามโดยอาสาสมัครสาธารณสุขเชี่ยวชาญ (อสมช.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หากพบความผิดปกติจะตรวจยืนยันด้วยเครื่องอัลตราซาวน์ (Ultrasound) ที่โรงพยาบาลชุมชน และส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป พร้อมทั้งบูรณาการกับงานของมูลนิธิ พอ.สว. เพื่อให้สตรีที่อยู่ห่างไกลได้รับการดูแล เฝ้าระวังโรคมะเร็งเต้านมมากขึ้น และจะพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับบันทึกการตรวจเต้านม คู่ขนานการใช้สมุดบันทึก รวมทั้งพัฒนาอสม.เป็นอสม.เชี่ยวชาญด้านการเฝ้าระวังมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น เพื่อให้หญิงไทยทุกคนสามารถตรวจและทราบความปกติของเต้านมตนเองตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ช่วยลดการตายจากโรคมะเร็งเต้านมได้
ด้านแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ที่เสียชีวิต มักมาพบแพทย์เมื่อมะเร็งเต้านมได้ลุกลามและแพร่กระจายแล้วคือ มีก้อนขนาดใหญ่และมีแผลที่เต้านม หรือมีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลจากหัวนม หากค้นพบเร็วก็จะสามารถรักษาให้หายได้ ดังนั้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษา นอกจากจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ แล้ว ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติ และตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน สำหรับหญิงที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ส่วนผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป นอกเหนือจากการตรวจเต้านมด้วยตนเองแล้ว ควรเพิ่มการตรวจเต้านมกับบุคลากรทางการแพทย์อย่างน้อยทุก 3 ปี และเพิ่มเป็นทุกปีเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปควบคู่กับการตรวจเอกซเรย์เต้านม
**********************