ผนึกกำลัง “บวร” ปิดการฝึกอบรม “โคก หนอง นา พช.” จ.อุบลราชธานี รุ่นที่ 36 รองผู้ว่าฯ มอบแนวทางในการน้อมนำแนวพระราชดำริ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขยายผลไปสู่ประชาชนในพื้นที่

วันที่ 9 เมษายน 2564 เวลา 14.30 น. ณ วัดป่าศรีแสงธรรม บ้านดงดิบ ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้นายเมธา รุ่งฤทัยวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีปิดการฝึกอบรมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จังหวัดอุบลราชธานี กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา รุ่นที่ 36 จำนวน 100 คน จากอำเภอเดชอุดม ณ วัดป่าศรีแสงธรรม บ้านดงดิบ ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

โดยมี นางสาวเพ็ญศรี จุมพล พัฒนาการอำเภอศรีเมืองใหม่ กล่าวรายงานผลการฝึกอบรม พร้อมด้วย นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัด เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ ทีมวิทยากรและผู้นำชุมชนในพื้นที่ เข้าร่วมพิธีและสนับสนุนการดำเนินงาน ทั้งนี้ ได้รับความเมตตาจากพระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีแสงธรรม ที่อนุเคราะห์สถานที่ในการฝึกอบรมและร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนตลอดมา ตามหลัก “บวร” หรือบ้าน วัด ราชการ

โอกาสนี้ ประธานในพิธีฯ ได้กล่าวกับผู้ผ่านการฝึกอบรมว่า “ขอแสดงความยินดีกับผู้ผ่านการอบรมทุกท่าน ที่ได้ผ่านการฝึกอบรมตลอดระยะเวลา 5 วัน 4 คืน ที่ผ่านมา โครงการนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมหาศาล เนื่องจากเป็นการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ว่าจะต้องทำอะไรไม่ให้เกินตัว มีเหตุผล พอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน ภายใต้เงื่อนไข ความรู้เเละคุณธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักคุณธรรม จริยธรรม และความซื่อสัตย์นั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกท่านพึงมี เพราะถือว่าเป็นหลักสำคัญในการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม การยึดหลักคุณธรรม หลักจริยธรรม หลักความซื่อสัตย์ จะส่งผลทำให้มีความเจริญในอาชีพ ในส่วนของการฝึกอบรมที่ผ่านมาเน้นเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ก่อให้เกิดประสบการณ์จริง สามารถเป็นประโยชน์ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ให้สามารถพึ่งตนเองได้

ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขอให้ทุกท่านนำเอาความรู้ที่ได้ไปพัฒนาพื้นที่และร่วมขับเคลื่อนเป็นศูนย์เรียนรู้หลักเศรษฐกิจพอเพียงตามหลักทฤษฎีใหม่ในรูปแบบ โคก หนอง นา โดยสามารถถ่ายทอดให้คนอื่นได้อย่างเป็นรูปธรรม อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ท้องถิ่นชุมชนของท่านและเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศชาติด้วย นอกจากนั้นต้องบริหารพื้นที่เเละสร้างองค์ความรู้ เพื่อทำให้เป็นแบบอย่างหรือศูนย์เรียนรู้ เกิดการลดรายจ่าย ทำให้เกิดรายได้ มีการออม ทำให้เศรษฐกิจครัวเรือนดีขึ้น เป็นพื้นฐานสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สุดท้ายนี้ขออวยพรให้ทุกท่านโชคดีมีความสุข สุขภาพร่างกายแข็งแรง ปลอดภัยจากโรคไวรัสโควิด-19 มีความมั่นคงทางอาหาร และประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิตต่อไป” ประธานในพิธีฯ กล่าว ก่อนปิดการฝึกอบรม

จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการอนุมัติงบประมาณดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบโคก หนอง นา ให้สามารถเป็นแกนนำขับเคลื่อนการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ โคก หนอง นา ดำเนินการ 48 รุ่นๆ ละ 5 วัน กลุ่มเป้าหมายเข้ารับการอบรม 4,790 คน ประกอบด้วยครัวเรือนพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตครัวเรือนละ 1 คน และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ จำนวน 898 คน ระยะเวลาดำเนินการระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 4 มิถุนายน พ.ศ. 2564 จุดดำเนินการ 5 แห่ง ดังนี้

1)ศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จำนวน 16 รุ่น

2)วัดป่าศรีแสงธรรม ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จำนวน 11 รุ่น

3)ศูนย์ฝึกอบรมวัดภูอานนท์ ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จำนวน 11 รุ่น

4)ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชนสารภีท่าช้าง ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จำนวน 5 รุ่น

5)ชุมชนต้นแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอนหมู ตำบลขามเปี้ย อำเภอตระการพืชผล จำนวน 5 รุ่น

ซึ่งจุดที่ 4 และ 5 ดำเนินการฝึกอบรมเสร็จสิ้นแล้ว คงเหลือดำเนินการฝึกอบรม 3 จุดแรก

สำหรับการฝึกอบรมฯ รุ่นที่ 36 ระหว่างวันที่ 5-9 เมษายน 2564 ณ วัดป่าศรีแสงธรรม แห่งนี้ มีฐานการเรียนรู้ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ จำนวน 10 ฐาน ประกอบด้วย

1)ฐานคนมีไฟ

2)ฐานคนมีน้ำยา

3)ฐานคนเอาถ่าน

4)ฐานรักษ์​แม่ธรณี

5)ฐานรักษ์​แม่โพสพ

6)ฐานคนรักษ์สุขภาพ

7)ฐานคนรักษ์ดิน

8)ฐานคนรักษ์ป่า

9)ฐานคนรักษ์น้ำ

10)ฐานคันนาทองคำ

กลุ่มเป้าหมายเข้ารับการฝึกอบรมฯ จำนวน 100 คน จากอำเภอเดชอุดม แยกเป็นครัวเรือนพัฒนาต้นแบบ จำนวน 98 คน และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) จำนวน 2 คน และได้รับการสนับสนุนวิทยากรที่ผ่านการอบรมจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ร่วมกับวิทยากรจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ทั้งนี้ ได้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังโรคไวรัส COVID-19 อย่างเคร่งครัด จนสามารถดำเนินโครงการฯ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ถือเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ในการพัฒนาประเทศ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของชาติ และประโยชน์สุขต่อพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะการพึ่งตนเองได้ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี เกิดความสุขที่ยั่งยืนต่อไป

อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี…ภาพข่าว/รายงาน