วันที่ 9 เมษายน 2564 เวลา 14.00 น. ณ ศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา รุ่นที่ 35 จำนวน 95 คน จากอำเภอเดชอุดม ณ ศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
โดยมีนายธงชัย ครุฑแสน ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย คณะวิทยากร เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ เข้าร่วมพิธีและสนับสนุนการดำเนินงาน ทั้งนี้ ได้รับความเมตตาจากพระครูสุขุมวรรโณภาส เจ้าคณะตำบลหัวดอน ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ที่ให้ความอนุเคราะห์สถานที่ในการฝึกอบรมฯ และสนับสนุนการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนตลอดมาตามหลัก “บวร” หรือบ้าน วัด ราชการ
โอกาสนี้ ประธานในพิธีฯ ได้พบปะและกล่าวกับผู้ผ่านการฝึกอบรมฯ รุ่นที่ 35 ว่า “ขอแสดงความยินดีกับทุกท่าน ที่ผ่านการฝึกอบรมตามโครงการในครั้งนี้ เป็นโครงการภายใต้แผนงานโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโรโคนา 2019 ที่ส่งผลกระทบไปถึงวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจ ด้านการสาธารณสุข ด้านการคมนาคม รวมถึงด้านอื่นๆ ของประเทศไทยและของโลก ในส่วนของครัวเรือนพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบที่สมัครเข้าร่วมโครงการของจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งหมด 3,960 แปลง ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งการฝึกอบรมตลอดระยะเวลา 5 วัน 4 คืน ที่ผ่านมานั้น มุ่งเน้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบ Learning by doing คือการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ในส่วนของนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยในการพัฒนาและขับเคลื่อนโครงการฯ ร่วมกับครัวเรือนเป้าหมาย
นอกจากนั้น ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ฝากควาามห่วงใย และคาดหวังว่ากิจกรรมโคก หนอง นา ต้องอาศัยทุกท่านเป็นกลไกสำคัญในการเป็นหน่วยผลิตเพราะต้องใช้พื้นที่ของท่านพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยแก้เเล้งเก็บน้ำฝน เก็บน้ำในฤดูฝนไว้ใช้ในหน้าแล้ง มีพื้นที่ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เกิดการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และมีผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น โดยมีหน่วยงานราชการเข้ามาร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาผลผลิตจากโคก หนอง นา สู่เเบรนด์ “โคก หนอง นา อุบลราชธานี” และจะมีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ ในจังหวัดฯ คือ เกิดครัวเรือนต้นแบบ 3,960 ครัวเรือน เกิดแกนนำพัฒนา 4,858 คน เกิดการจ้างงาน 898 คน มีพื้นที่การทำ “โคก หนอง นา” 9,329 ไร่ มีพื้นที่กักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอีก 19 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยลดปัญหาภัยแล้ง ถือเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้รายเดือนให้แก่เกษตรกร บัณฑิตจบใหม่ และกลุ่มแรงงานที่อพยพกลับสู่บ้านเกิด จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 898 อัตรา
สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกท่านนำเอาความรู้ที่ได้โดยเฉพาะการน้อมนำแนวพระราชดำริ ไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่ดำเนินการตามโครงการฯ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ ส่งผลให้เกิดความมั่นคงทางอาหารกับครัวเรือน ชุมชนเเละประเทศชาติ สามารถพึ่งตนเองได้โดยการยึดหลัก 4 พอ คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ และปลอดภัยจากสภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านเเละขอให้เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ” ประธานในพิธีฯ กล่าว
จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการอนุมัติงบประมาณดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบโคก หนอง นา ให้สามารถเป็นแกนนำขับเคลื่อนการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ โคก หนอง นา ดำเนินการ 48 รุ่นๆ ละ 5 วัน กลุ่มเป้าหมายเข้ารับการอบรม 4,790 คน ประกอบด้วยครัวเรือนพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตครัวเรือนละ 1 คน และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ จำนวน 898 คน ระยะเวลาดำเนินการระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 4 มิถุนายน พ.ศ. 2564 จุดดำเนินการ 5 แห่ง ดังนี้
1)ศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จำนวน 16 รุ่น
2)วัดป่าศรีแสงธรรม ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จำนวน 11 รุ่น
3)ศูนย์ฝึกอบรมวัดภูอานนท์ ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จำนวน 11 รุ่น
4)ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชนสารภีท่าช้าง ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จำนวน 5 รุ่น
5)ชุมชนต้นแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอนหมู ตำบลขามเปี้ย อำเภอตระการพืชผล จำนวน 5 รุ่น ซึ่งจุดที่ 4 และ 5 ดำเนินการฝึกอบรมเสร็จสิ้นแล้ว คงเหลือดำเนินการฝึกอบรม 3 จุดแรก
สำหรับการฝึกอบรมฯ รุ่นที่ 35 ระหว่างวันที่ 5-9 เมษายน 2564 ณ ศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ แห่งนี้ มีฐานการเรียนรู้ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ จำนวน 10 ฐาน ประกอบด้วย
1)ฐานคนมีไฟ
2)ฐานคนมีน้ำยา
3)ฐานคนเอาถ่าน
4)ฐานรักษ์แม่ธรณี
5)ฐานรักษ์แม่โพสพ
6)ฐานคนรักษ์สุขภาพ
7)ฐานคนรักษ์ดิน
8)ฐานคนรักษ์ป่า
9)ฐานคนรักษ์น้ำ
10)ฐานคันนาทองคำ และมีกลุ่มเป้าหมายที่ผ่านการอบรมจากอำเภอเดชอุดม จำนวนทั้งสิ้น 95 คน
โดยได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติปูทะเลย์มหาวิชชาลัย ป่าดงใหญ่วังอ้อ ร่วมกับวิทยากรจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ทั้งนี้ ได้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด
อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี…ภาพข่าว/รายงาน