ทลายเครือข่ายจำหน่ายผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนักยี่ห้อ BODY FIRMING by nikki ตรวจพบ Sibutramin พร้อมทลายเครือข่ายจำหน่ายยาไม่มีทะเบียนประเภทควบคุมน้ำหนักทางแพลตฟอร์มดังขึ้นต้นด้วยอักษร “S” และ เฟซบุ๊ก

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ทลายเครือข่ายขายผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนักยี่ห้อ BODY FIRMING by nikki สูตร 2 ดื้อยามาก ตรวจพบ Sibutramine ซึ่งจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 1 ผู้ขายมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000 – 2,000,000 บาท พร้อมทลายเครือข่ายขายยาควบคุมน้ำหนักทางแพลตฟอร์มดังขึ้นต้นด้วยอักษร “S” และ เฟซบุ๊ก

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้มีการเฝ้าระวังและตรวจพบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนัก, วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และยาไม่มีทะเบียน ที่มีการจำหน่ายทางอินเทอร์เน็ต, แพลตฟอร์ม และ เฟซบุ๊ก จำนวนมาก จึงได้ประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการกวาดล้างไม่ให้มีการจำหน่ายสินค้าที่ผิดกฎหมาย ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข

โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ตั้งคณะทำงานปราบปรามผลิตภัณฑ์และการบริการด้านสุขภาพที่ผิดกฎหมาย วันที่ 9 เมษายน 2564 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฯ พร้อมด้วย พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ.ศารุติ แขวงโสภา, พ.ต.อ.ศรีศักดิ์ คัมภีรญาณ, พ.ต.อ.ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. และ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม

รองเลขาธิการคณะกรรมการ อาหารและยา ร่วมกันแถลงข่าวการทลายเครือข่ายจำหน่ายผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนักยี่ห้อ BODY FIRMING by nikki ตรวจพบSibutramine พร้อมทลายเครือข่ายจำหน่ายยาไม่มีทะเบียนประเภทควบคุมน้ำหนัก ทางแพลตฟอร์มดังขึ้นต้นด้วยอักษร “S” และ เฟซบุ๊ก ดังนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าคณะทำงานปราบปรามผลิตภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพที่ผิดกฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. ดำเนินการสืบสวนหาข้อเท็จจริงและดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ปคบ. ร่วมกับ อย. บุกจับผู้ต้องหา 8 คน 10 หมายจับ ในเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมตรวจยึดผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนักยี่ห้อ BODY FIRMING by nikki สูตร 2 ดื้อยามาก ซึ่งผลตรวจวิเคราะห์พบ Sibutramine กว่า 40,000 แคปซูล ยาชุดและยาไม่มีทะเบียนจำนวนมาก โดยกลุ่มบุคคลเหล่านี้มีพฤติการณ์ โพสต์ขายสินค้าตามเฟชบุ๊กใช้ชื่อว่า “Nasachon Limprasert” ระบุข้อความขายสินค้า “อาหารเสริมลดน้ำหนัก BODY FIRMING by Nikki ดื้อยาแรง อ้วนหลังคลอด กระชับ พุงยุบ ลดทุกสัดส่วนยกเว้น หน้าอก เห็นผลจริงเชิญทดสอบผลใน 7 วัน ผลิตจากสมุนไพรล้วน 100% ช่วยในการเผาผลาญไขมันไม่ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่โยโย่ ไม่กลับมาอ้วนอีก ปลอดภัยเหมาะกับผู้ที่น้ำหนัก70 กิโลขึ้น และร้านค้าออนไลน์ แพลตฟอร์มดังขึ้นต้นด้วยอักษร “S” ในชื่อ

“lalarakkid@shop” (จากร้านเดิมใน เพจLaLa@Shop) ระบุ“lalarakkidShop ตัวแทนขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมควบคุมน้ำหนัก auraslimbeauty การันตีของแท้ 100% ปลอดภัย มี อย….” และ“rakkid_shop” ระบุเกี่ยวกับร้านค้า เช่น “…ตัวแทนขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมควบคุมน้ำหนัก auraslimbeauty การันตีของแท้ 100 จากร้านเดิม LaLa Shop ที่ปิดตัวลง…เจ้าหน้าที่ตรวจพบภาพ PANBESY 30 ระบุข้อความ เช่น “ช่วยลดอาการหิวจุกจิก ทานอาหารได้น้อยลง ช่วยในการลดน้ำหนักทุกสัดส่วน เห็นผลใน 14 วัน…” และพบเฟชบุ๊ก “Thanachod Black จำหน่ายวิตตามินลดน้ำหนักจากคลินิคปลอดภัย100% ปลีก-ส่ง จัดส่งทุกวัน” ระบุข้อความ คุมหิว บล็อกไขมัน ลดต้นขา ลดต้นแขน ลดสัดส่วนทานคู่กับยาลดตัวอื่น ๆได้เม็ดละ10.-บาท #p40 เข้าเเล้วนะครับ สั่งได้เลยนะครับ มีพนักงานส่งสินค้าแทนนะครับตอนนี้ลูกค้าต้องการเยอะเลยหยุดไม่ได้ครับ, และเฟชบุ๊ก

“ยาลดน้ำหนักคลินิกหมอโชคชัยแท้ 100%” ระบุข้อความ “ไฟรีวิวโคตรปัง อยากผอมต้องสั่ง #ยาลดโรงพยาบาล#ยาลดความอ้วน#ยาลดน้ำหนัก#ยาลดน้ำหนักยันฮี#ลดหุ่น#ลดน้ำหนัก#วิธีการสั่งซื้อพร้อมรูปภาพ และเฟชบุ๊ก“Bike Pop จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมยาลดน้ำหนักยันฮี” ซึ่งเฟซบุ๊กเหล่านี้เป็นการขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าหน้าที่จึงได้ยึดเป็นของกลางทั้งหมดนำส่งพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดดังนี้

พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559

– ขายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาต มีอัตราโทษ จำคุกตั้งแต่ 4 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000 – 2,000,000 บาท

พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510

– ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท

– ขายยาปลอมจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท

– ขายยาบรรจุเสร็จหลายขนานโดยจัดเป็นชุดในคราวเดียวกัน มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

– โฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีอัตราโทษ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท

พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537

ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิได้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทำการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าที่จำหน่ายบนแพลตฟอร์ม หรือเฟซบุ๊ก หรือแม้แต่เจ้าของแพลตฟอร์ม ที่มีการจำหน่ายและการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด และหากพี่น้องประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค

ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในตอนท้ายว่า อย.ขอขอบคุณกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ให้ความอนุเคราะห์ผลตรวจวิเคราะห์ในการทำงานครั้งนี้ และ เตรียมขยายผลตรวจสอบหากพบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนัก, วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท, ยาไม่มีทะเบียน ทางอินเทอร์เน็ต, แพลตฟอร์ม และ เฟซบุ๊ก จะดำเนินการตามกฎหมายทันทีและเตือนว่าการขายยา อย.ไม่ได้อนุญาตให้มีการขายยาผ่านทางสื่อออนไลน์ แนะผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ยา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาอวดอ้างเกินจริงทางสื่อออนไลน์ เพราะอาจจะเกิดการแพ้ยาและอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนการเลือกซื้อได้ที่ Application “ตรวจเลข อย.” ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางการสื่อสารที่ช่วยเข้าถึงมือผู้บริโภคได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว เป็นการสร้างความมั่นใจเบื้องต้นให้กับผู้บริโภค

ทั้งนี้ อย. ได้มีการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างใกล้ชิด หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยสามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะทำการตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดอย่างเข้มงวดต่อไป
……………………………………………………………………………………
วันที่เผยแพร่ข่าว 9 เมษายน 2564 แถลงข่าว 22 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
“การแถลงข่าวในครั้งนี้เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน”