กรมควบคุมโรค เตือนผู้ปกครองในช่วงหน้าหนาว ดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิต ระวังป่วยโรคหัด แนะพาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดตามกำหนด

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิตในช่วงหน้าหนาว เพื่อป้องกันโรคหัด แนะพาบุตรหลานไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดตามกำหนด เผยวัคซีนป้องกันโรคหัด มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้มากกว่าร้อยละ 95

วันที่ 6 ธันวาคม 2561 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยมีสภาพอากาศเริ่มหนาวเย็นลง ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงที่จะป่วยได้ง่ายขึ้น ซึ่งโรคที่ต้องระมัดระวังในช่วงนี้คือ โรคหัด เป็นโรคไข้ออกผื่นที่มักพบได้ในทุกช่วงวัย  โดยเชื้อไวรัสหัดสามารถติดต่อและแพร่กระจายได้ง่ายผ่านเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และละอองอากาศ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายโดยการไอ จาม และพูดคุยในระยะใกล้ชิด ผู้ป่วยโรคหัดจะมีเชื้อไวรัสหัด  อาศัยอยู่ ในลำคอ ซึ่งสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ 1-2 วัน ก่อนเริ่มมีผื่นขึ้น

โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งเป็นไวรัสที่พบได้บ่อยในจมูกและลำคอของผู้ป่วย อาการที่พบบ่อยของโรคหัด คือ “ไข้ออกผื่น” โดยมักมีอาการไข้ประมาณ 3-4 วัน แล้วเริ่มมีผื่นนูนแดงขึ้น โดยผื่นเริ่มขึ้นจากหลังหูแล้วลามไปยังใบหน้าบริเวณชิดขอบผมแล้วแผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ คือ คออักเสบ หลอดลมอักเสบจนถึงปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ ท้องเสีย  และสมองอักเสบซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงที่สุด หากมีอาการที่กล่าวมาหรือสงสัยว่าเป็นโรคหัดควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการและรับการรักษา

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า โรคหัดสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน และวัคซีนป้องกันโรคหัดมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้มากกว่าร้อยละ 95 ซึ่งตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข จะฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมันจำนวน 2 เข็ม เข็มแรกเมื่อเด็ก  อายุ 9 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 2 ปีครึ่ง หากพบว่าบุตรหลานยังรับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ผู้ปกครองสามารถพาไปรับวัคซีนได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่ง อย่างไรก็ตามแม้ว่าโรคหัดจะมีอัตราการป่วยตายต่ำในเด็กทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่ยังคงมีความเสี่ยงในเด็กเล็ก และเด็กที่มีภาวะขาดสารอาหารหรือเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค  โทร. 1422

 

**************************************************

ข้อมูลจาก : กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค