กรมการพัฒนาชุมชน จัดอบรม เชิงปฏิบัติการ พัฒนาศักยภาพ

ผู้ประกอบการด้านผ้าไทย (Coaching) โดย ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเพิ่มองค์ความรู้และเตรียมการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”

วันที่ 7 เมษายน 2564 เวลา 10.00 น. ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและศักยภาพผ้าไทย กิจกรรมที่ 1 การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านผ้าไทย (Coaching) แก่กลุ่มเป้าหมาย กลุ่มทอผ้าและช่างทอ ในจังหวัดขอนแก่นกว่า 60 กลุ่ม เปิดอบรมฯ ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 2 ตำบลปอแดง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

ในการนี้ นางสาวชนมณัฐ รอดบุญธรรม ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน เขตตรวจราชการที่ 12 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และแบบลายผ้ามัดหมี่ “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ณ บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 2 ตำบลปอแดง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

โดยมีนายจำเริญ แหวนเพ็ชร พัฒนาการจังหวัดขอนแก่น นางจิรภา เชื้อดวงผุย ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน นายประดิษฐ์ นัดทะยาย ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นางยุภาพร ทีบุตร นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ (ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มงาน) นางมณฑาทิพย์ นาทองห่อ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ (ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มงาน) และนายตันติกร ศรีมนตรี นักส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดขอนแก่น และนายยุทธพันธ์ ทองป้อง พัฒนาการอำเภอชนบท เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอชนบท เข้าร่วมรับฟังองค์ความรู้ และอำนวยความสะดวก

การอบรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมตามโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทย อบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านผ้าไทย (Coaching) เข้าใจหลักเกณฑ์การประกวด คือต้องผลิตหรือทอผ้าให้มีขนาดหน้ากว้าง ไม่น้อยกว่า 1 เมตร ความยาวไม่น้อยกว่า 1.80 เมตร หรือ 2 หลา ใน15 ประเภท ประกอบด้วย

1) ผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอ

2) ผ้ามัดหมี่ 3 ตะกอขึ้นไป

3) ผ้าขิต

4) ผ้ายกดอก

5)ผ้ายกใหญ่

6) ผ้ายกเล็ก

7) ผ้าจกทั้งผืน

8) ผ้าตีนจก

9) ผ้าแพรวา

10) ผ้าลายน้ำไหล

11) ผ้าเทคนิคผสม

12) ผ้าบาติก

13) ผ้าพิมพ์ลาย

14) ผ้าปักมือ

15) ผ้าเทคนิคสร้างสรรค์

ทั้งนี้ผู้แทนกลุ่มและสมาชิกกลุ่มได้สอบถามข้อสงสัย เทคนิค รายละเอียด เพื่อเตรียมผลิตผ้าลายพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” สำหรับส่งประกวด ให้ทันกำหนด ภายใน 30 เมษายน 2564 นี้ ด้วย

การดำเนินงาน “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา นอกจากการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ประเภทผ้า เพื่อส่ง“ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ“เข้าประกวดแล้ว ยังเป็นการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในเรื่อง การอนุรักษ์ภูมิปัญญาของไทย และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายสิ่งทอ และการอนุรักษ์ผ้าไทย ประชาสัมพันธ์ผ้าไทยแต่ละประเภทให้เป็นที่รู้จัก ทำให้กลุ่มทอผ้าสามารถได้ความต้องการของตลาด และtrend ของสากล ทำให้จำหน่ายได้มากขึ้น จะสร้างความมั่นคงทางอาชีพให้กับชาวบ้าน และชุมชน คณะผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิ ยังได้อธิบายความสำคัญ ว่าการประกวดลายผ้าพระราชทานลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ

ครั้งนี้ ถือเป็นการ kick off ในการส่งเสริม อนุรักษ์ รักษา สืบสาน และต่อยอด โดยการส่งเสริมศิลปินคนรุ่นใหม่ มุ่งเน้นการทำงานทักทอผ้า ต้องไม่ลดขั้นตอนในการปฏิบัติงานตามกติกาที่ได้วางไว้ สุนทรียศาสตร์ มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาที่ส่งต่อบรรพบุรุษดำเนินอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนารูปแบบความต้องการในยุคปัจจุบัน เพื่อต้องการยกระดับ คุณภาพลายผ้าไทย เส้นใย และสร้างศิลปินคนรุ่นใหม่ที่ทำงานเรื่อง ผ้า โดยไม่จำกัดอายุ ในการฝึกอบรมฯครั้งนี้ได้รับเกียรติจากท่านวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเกี่ยวกับผ้าไทยมาให้ความรู้แก่ผู้ผลิตผู้ประกอบการในเรื่องต่างๆดังนี้

เรื่อง “พระราชปณิธานของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ในเรื่องการพระราชทานลายผ้าสู่ประชาชน และกติกา โครงการประกวดลายผ้าพระราชทาน” โดยคุณอัครชญ แก้วอาภรณ์ (อาจารย์โจ) ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย

เรื่อง “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยคุณกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหาร นิตยสารโว้กประเทศไทย

เรื่อง “คอลเลคชั่นผ้าไทยร่วมสมัย” โดยคุณพลพัฒน์ อัศวะประภา ผู้ก่อตั้งและนักออกแบบแบรนด์ ASAVA

เรื่อง “คุณภาพเส้นใย ไหมพันธุ์แท้ ฝ้ายพื้นเมือง” โดยคุณวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ผู้เชี่ยวชาญผ้าพื้นเมือง

เรื่อง “การผสมผสานผ้าไทยในคอลเลคชั่น” โดยคุณศิริชัย ทหรานนท์ ผู้ก่อตั้งและนักออกแบบแบรนด์ Theatre

เรื่อง “การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผ้าไทย” โดยคุณพีรพงศ์ พงษ์ประภาพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ยังได้เน้นย้ำว่า นับเป็นความภาคภูมิใจที่ชาวขอนแก่นได้รับเกียรติถูกเลือกเป็นพื้นที่ Coaching จากกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งมีเพียง 8 จุด เท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับบริบทและความโดดเด่นที่จังหวัดขอนแก่น เป็นเมืองหัตถกรรมโลกแห่งผ้ามัดหมี่ ซึ่งเกิดได้ด้วยความสามารถในการต่อยอดภูมิปัญญา จากรุ่นสู่รุ่นมายาวนาน การทอด้วยความประณีต มีคุณภาพสูง สามารถถ่ายทอดขยายผบไปได้ทั่วทั้งจังหวัด โดยเฉพาะที่อำเภอชนบทแห่งนี้ถือเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมมัดหมี่เป็นที่ยอมรับระดับโลก

ประธานวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่ได้ให้ข้อมูลว่า เอกลักษณ์ความโดดเด่นของผ้ามัดหมี่หัวฝาย จากการศึกษาและทดลองสามารถลดกระบวนการผลิตผ้าลายมัดหมี่ได้ด้วยการใช้การแต้มหมี่ด้วยสีรีแอคทีฟชนิดระบายบนโฮงมัดหมี่ทุกสีพร้อมกันในครั้งเดียวแทนการมัดหมี่แบบเดิม ร่วมกับขั้นตอนการแช่สารกันสีตก ซึ่งสามารถลดระยะเวลาในการผลิตผ้าไหมทอมือลายมัดหมี่ลงได้โดยยังใช้อุปกรณ์เดิม สามารถสร้างลายมัดหมี่ได้ง่ายขึ้นเอื้อต่อการสืบทอดและกลุ่มชุมชนสามารถสร้างสรรค์ลวดลายต่อไปด้วยตนเอง จากพื้นฐานเดิม โดยลวดลายที่เหมาะสมสำหรับเทคนิคนี้เป็นลายที่มีขนาดใหญ่และมีความอิสระคล้ายการระบายสีด้วยพู่กัน จากความหลงใหลและรักในเส้นใยธรรมชาติด้วยกระบวนการทำมือโดยวิถีดั้งเดิมของงานทอผ้าที่มาจากเส้นใย หหลายร้อยเส้นทอด้วยใจผ่านมือออกมาเป็นผ้าหนึ่งผืน เกิดลวดลายและสีสันที่สามารถบอกเล่า อัตลักษณ์ความเป็นตัวเองของผู้รังสรรค์ผลงานบนผืนผ้าคือจุดเริ่มต้นของผ้าฝ้ายทอมือ ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย ซึ่งทางวิทยากรได้ชื่นชมและให้ความเห็นว่าสามารถส่งประกวด ประเภทผ้าเทคนิคสร้างสรรค์ก็ได้

—ขอนแก่น :เมืองหัตถกรรมโลกแห่งผ้ามัดหมี่—–

พัฒนาชุมชน สพจ.ขอนแก่น