พช. ประสานมือ 19 หน่วยงานภาคี เดินหน้า โครงการ 9 ; 10 ปฏิบัติบูชา “สืบสาน รักษา ต่อยอด” เพื่อพัฒนาชุมชน ร่วมหารือคณะทำงานจัดทำหลักเกณฑ์ประเมินผลและจัดระดับหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

วันที่ 7 เมษายน 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้ นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานในการประชุมคณะทำงานจัดทำหลักเกณฑ์ประเมินผลและจัดระดับหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการ 9; 10ปฏิบัติบูชา “สืบสาน รักษา ต่อยอด” เพื่อพัฒนาชุมชน

โดยมี รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษากรมการพัฒนาชุมชน นายทรงพล วิชัยขัทคะ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน และผู้บริหาร ข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย นายวิกรม คัยนันทน์ ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการพื้นที่ 3 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และคณะผู้บริหาร ข้าราชการ ตัวแทน 19 หน่วยงานภาคี ร่วมในการประชุม ณ ห้องประชุม 3003 ชั้น 3 กรมการพัฒนาชุมชน อาคารรัฐประศาสภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ

โครงการ 9; 10ปฏิบัติบูชา “สืบสาน รักษา ต่อยอด” เพื่อพัฒนาชุมชน นับเป็นโครงการที่กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมบูรณาการกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงชนชาวไทย พระราชทานแนวคิดและทฤษฎีอันครอบคลุมกระบวนการพัฒนาหลากหลายสาขา อาทิ การยกระดับคุณภาพชีวิต การสงเคราะห์ช่วยเหลือ เป็นต้น พระองค์มีพระราชดำริให้จัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ขึ้นตามภูมิภาคต่างๆ จำนวน 6 ศูนย์ เพื่อให้การศึกษา ทดลอง สาธิตในด้านการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง ตลอดจนการพัฒนาทางด้านสังคมและงานศิลปาชีพ

ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าวนอกเหนือจากจะเกิดกับผู้สนใจศึกษา ดูงาน แล้วยังได้รับการส่งเสริมให้แก่ประชาชนในพื้นที่รอบศูนย์อีกด้วย ในส่วนการประชุมในครั้งนี้ เป็นการหารือยกร่างเกณฑ์การประมินผล และจัดระดับหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 แห่ง รวม 148 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี นราธิวาส เชียงใหม่ และสกลนคร อันจะก่อประโยชน์ในการยกย่องเชิดชู และส่งเสริมสนับสนุนหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการน้อมนำพระราชดำริฯ ไปประยุกต์ใช้และเป็นตัวอย่างในการขยายผลสำเร็จไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวในการประชุมว่า “การประชุมในครั้งนี้ สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 1/2563 โดย นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 โดยที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาฯ ตามพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริ ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น ซึ่งดำเนินงานมาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี

โดยมุ่งหวังว่าการดำเนินงานศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ใด ๆ ก็ตามจะเป็นการสนองพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รักษา คือ การดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการปรับปรุงซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ให้สามารถใช้การได้ตลอดเวลาเพื่อเป็นการรักษาธำรงไว้เป็นตัวแทนของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่จะอยู่อย่างยั่งยืนกับประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ต่อยอด คือการทำงานให้สอดคล้องกับบริบทในการดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน ร่วมใจสานต่อสิ่งเหล่านี้ รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้และหลักวิชาการที่เหมาะสม ภายใต้การดำเนินงานส่งเสริมและขยายผลสำเร็จของการพัฒนาต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อสนองงานอันมีความสำคัญดังกล่าว กรมการพัฒนาชุมชน จึงได้ขับเคลื่อนโครงการ 9 ; 10ปฏิบัติบูชา “สืบสาน รักษา ต่อยอด” เพื่อพัฒนาชุมชน เพื่อปฏิบัติบูชา สืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สู่การปฏิบัติของประชาชน ขยายผลสู่การส่งเสริมในระดับหมู่บ้าน ชุมชน โดยการส่งเสริมสนับสนุนของกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย ซึ่งในปัจจุบันศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 แห่ง 6 จังหวัด มีหมู่บ้านโดยรอบจำนวน 148 หมู่บ้าน มากที่สุดในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีหมู่บ้านรอบศูนย์ 43 แห่ง และน้อยที่สุดในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 13 หมู่บ้าน อย่างไรก็ดีสิ่งที่จะเป็นส่วนขยายให้เห็นถึงรูปธรรมได้อย่างดีที่สุดคือการกำหนดกฎเกณฑ์ในการประเมินและจัดระดับหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในฐานของการส่งเสริมควบคู่ไปกับการพัฒนา ซึ่งจะเกิดขึ้นในปีนี้เป็นครั้งแรก ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องของการแข่งขันเพื่อเชิดชูผู้ชนะแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีนัยยะถึงการร่วมถอดบทเรียนเพื่อพัฒนา สร้างหมู่บ้านต้นแบบตามภูมิสังคม

สำหรับเกณฑ์การประเมินและจัดระดับหมู่บ้าน ที่ได้ร่วมยกร่างในครั้งนี้ โดยกรมการพัฒนาชุมชน สำนักงาน กปร. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารราดกระบัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่าย จะได้พิจารณาร่วมกันอย่างรัดกุม รอบด้านในเชิงคุณภาพ โดยเกณฑ์การประเมินอ้างอิงจากแนวทางตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักการทรงงาน องค์ความรู้ในมิติต่างๆ องค์ความรู้ของแต่ละศูนย์ศึกษา ที่นำไปสู่การ สืบสาน รักษา และต่อยอด ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม โดยทั้ง 148 หมู่บ้าน จะผ่านกระบวนการกลั่นกรอง วิเคราะห์ ประเมินอย่างเป็นขั้นตอนทั้งในระดับอำเภอ และจังหวัด ผ่าน 3 กิจกรรม ได้แก่

1. การประกวดหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

2. การประกาศความสำเร็จหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 

3.การประชาสัมพันธ์ โครงการ 9 ; 10 ปฏิบัติบูชา “สืบสาน รักษา ต่อยอด” เพื่อพัฒนาชุมชน ของหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 18 หมู่บ้าน ซึ่งมีความโดดเด่นที่สุด ใน 3 มิติ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม โดยห้วงของการดำเนินโครงการทั้งหมดจะอยู่ในช่วงระหว่างเดือนเมษายน ถึงแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2564 นี้”

รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ กล่าวเสริมว่า “ความสำเร็จของการขับเคลื่อนโครงการในครั้งนี้คือการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทาน มาเป็นกลไกเสริมพลังการพัฒนาที่ยั่งยืน ระเบียบวิธี กฎเกณฑ์ในการคัดเลือกที่จะได้ร่วมหารือยกร่างโดยกรมการพัฒนาชุมชน และภาคีทั้ง 19 หน่วยงาน ในครั้งนี้นั้น แม้จะได้ชื่อว่าเพื่อเป็นการวางหลักเพื่อการประกวดหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 แห่ง 148 หมู่บ้าน แต่โดยนัยแล้วเป็นไปเพื่อการเอื้ออำนวยสร้างแรงใจ และส่งเสริมการมีส่วนร่วม พัฒนาศักยภาพชุมชน ตลอดจนกระบวนการวิจัยพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วม ฉะนั้นจึงไม่ใช่การแข่งขันมุ่งหาผู้ชนะ แต่เป็นการประเมินเพื่อพัฒนา คุณค่าของผู้ที่เป็นเลิศในมิติใดคือการเป็นต้นแบบในการผลักดันในการขยายผล อีกทั้งหนุนเสริมสร้างเครือข่ายชุมชนพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ซึ่งเป็นการเสริมพลังการพัฒนาที่ยั้งยืนต่อไป”