อธิบดี พช. ลงพื้นที่ สกลนคร เยี่ยม “ชุมชนมะขามป้อม” ชื่นชมพลังชุมชนเข้มแข็งทุกมิติ ขับเคลื่อนสู่หนึ่งหมู่บ้านต้นแบบพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

วันที่ 7 เมษายน 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยนายอาจณรงค์ สัตยพานิช หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายวรงค์ แสงเมือง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสากิจชุมชน นายสุธีธ์ มั่งมี เลขานุการกรม ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนมะขามป้อม (ชุมชนต้นแบบปลูกผักสวนครัว) และมอบเมล็ดพันธุ์ผัก

โดยมี นายสมาน พั่วโพธิ์ พัฒนาการจังหวัดสกลนคร ร้อยตำรวจโท พันลภ ชนะกาญน์ ประธานท่องเที่ยวชุมชนมะขามป้อม เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนมะขามป้อม (ชุมชนต้นแบบปลูกผักสวนครัว) ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวขอบคุณ ที่ช่วยกันส่งเสริมขับเคลื่อนชุมชนบ้านมะขามป้อม ให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง เป็นต้นแบบชุมชนท่องเที่ยวเทศบาลนครสกลนคร ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งหวังให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามา โดยชุมชนบ้านมะขามป้อมเป็นหนึ่งหมู่บ้านที่ได้รับการพัฒนา และเป็นเสาหลักให้กับจังหวัดสกลนคร ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน

นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญ อยากให้ทุกท่านน้อมนำแนวทางสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งมีพระดำริในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ผ้าไทย ใส่ผ้าไทยเป็นวิถีชีวิตประจำวัน เช่น ผ้าม่อฮ่อม ผ้าย้อมคราม ต่อยอดทำให้ชุมชนมีรายได้ เงินทองไม่รั่วไหลไปต่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือ คณะรัฐมนตรีก็ให้ความสำคัญ มีมติ ครม.

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 อันสืบเนื่องมาจากที่ สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ร่วมมือกับกรมการพัฒนาชุมชน ได้ร่วมรณรงค์และเสนอเรื่องเข้าครม. โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดการรักษาอัตลักษณ์รูปแบบผ้าที่ดั่งเดิม เช่น การย้อมคราม การทอผ้า ไว้กับลูกหลาน และเป็นการสืบทอดการทอผ้า ก่อให้เกิดอาชีพ สร้างรายได้ในชุมชน รวมไปถึงเป็นการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช คือการ เอาเปลือกไม้ แก่นไม้ มาใช้ประยุกต์ทำผ้าย้อมครามได้อย่างมีคุณค่า

ร้อยตำรวจโท พันลภ ชนะกาญน์ ประธานท่องเที่ยวชุมชนมะขามป้อม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 เทศบาลสกลนคร ได้กำหนดให้พื้นที่ชุมชนมะขามป้อม เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช “โครงการอนุรักษ์พันธุ์ไม้หายากและใกล้จะสูญพันธุ์ ในโครงการฯ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามพระราชดำริฯ ให้เป็นพื้นที่ปลูก “ต้นมะขามป้อม” พื้นที่ 17 ไร่ ให้ได้ 910 ต้น

เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ รัชกาลที่ 10 และปัจจุบันชุมชนมะขามป้อมได้ปลูกต้นมะขามป้อม แซมไปกับพืชผักสวนครัว มีการปลูกต้นมะขามป้อมไปแล้ว กว่า 300 ต้น และมีเป้าหมายจะปลูกให้ครบ 910 ต้น ในปี พ.ศ. 2564 เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลฯในช่วงที่ผ่านมาตามกิจกรรมศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนมะขามป้อม ดำเนินโครงการวิถีท่องเที่ยวชุมชน ตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงฯ เพื่อใช้พื้นที่สาธารณะชุมชน เนื้อที่ 17 ไร่ ให้เกิดประโยชน์ร่วมกันและมีความยั่งยืน เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ โดยมีการจัดแบ่งพื้นที่ เป็นฐานเรียนรู้ จำนวน 10 ฐาน ดังนี้

1. ฐานเศรษฐกิจพอเพียง (ศาสตร์พระราชา)

2. ฐานผ้ามัดย้อมครามธรรมชาติ

3. ฐานทำไม้กวาดจากขวดพลาสติก

4. ฐานปลูกข้าวนอกนา

5. ฐานธนาคารน้ำใต้ดิน

6. ฐานปุ๋ยชีวภาพ EM /ปุ๋ยหมัก

7. ฐานไร่นาสวนผสม

8. ฐานการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชหายาก

9. ฐานภูมิปัญญาพานบายศรี ขันหมากเบ็ง ดอกไม้ประดิษฐ์

10. ฐานอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้าน

ซึ่งการดำเนินงานตามกิจกรรมศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนมะขามป้อมนี้ ทำให้มีผู้เข้าเยี่ยมชมโครงการ มากกว่า 65 คณะ มีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมประมาณ 4,000 –5,000 คน เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงและด้านการปลูกผักปลอดภัยทุกชนิด ตลอดจนมีการแบ่งปันพันธ์ผักสวนครัว แก่ประชาชนผู้มาศึกษาดูงาน

ในการนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ขอฝากให้ทุกท่าน ร่วมกันสวมใส่ผ้าไทย เพื่อน้อมนำตามแนวทางของพระองค์ท่าน และชื่นชมที่ทุกคนมีส่วนร่วมทำให้ชุมชนมะขามป้อม เป็นชุมชนต้นแบบปลูกพืชผักสวนครัว ภายใต้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยชุมชนมีการคัดแยกขยะ ลดละการก่อให้เกิดขยะในชุมชน และได้มีการส่งเสริมให้ชุมชนมีการปลูกพืชผักสวนครัวอย่างต่อเนื่อง ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน ถ้าเราไปตลาดต้องเสียค่าใช้จ่ายวันละ 50 บาท จาก 1,000 ครอบครัว เราต้องเสียค่าใช้จ่ายถึง 50,000 บาท แต่ถ้าพวกเราร่วมกันปลูกพืชผักสวนครัวทุกครัวเรือน เราสามารถลดรายจ่ายได้ถึง 50,000 บาทต่อวัน เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ถ้าเรามีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง มีพลัง “บวร” (บ้าน วัด ราชการ) เข้ามามีส่วนร่วม ในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

โดยโครงการ 910 ต้น (หรือ9:10) คือ การจะปลูกมะขามป้อม 910 ต้น 9 คือ รัชกาลที่ 9 และ10 คือ รัชกาลที่ 10 เป็นการแสดงเจตนารมย์ที่เป็นรูปธรรมของชุมชนบ้านมะขามป้อม ในการสนองพระราชปณิธาน จากพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าจะสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสามารถต่อยอดในการปลูกมะขามป้อมเพื่อนำไปทำยา สมุนไพร หรือการเพาะพันธุ์ เพื่อนำไปขายต่อ สร้างรายได้สู่ชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และเป็นชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืนต่อไป อธิบดีพช.กล่าว