วันที่ 5 เมษายน 2564 เวลา 15.00 น. ณ ศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา รุ่นที่ 35 จำนวน 96 คน จากอำเภอเดชอุดม ณ ศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
โดยมีนายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของโครงการฯ พร้อมด้วย นางวริชา เสาทอง พัฒนาการอำเภอเขื่องใน เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ทีมวิทยากรเข้าร่วมพิธีและสนับสนุนการดำเนินงาน ทั้งนี้ ได้รับความเมตตาจากพระครูสุขุมวรรโณภาส เจ้าคณะตำบลหัวดอน ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ที่ให้ความอนุเคราะห์สถานที่ในการฝึกอบรมฯ และสนับสนุนการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนตลอดมาตามหลัก “บวร” หรือบ้าน วัด ราชการ
โอกาสนี้ ประธานในพิธีฯ ได้พบปะและกล่าวกับผู้เข้ารับการฝึกอบรมว่า “ขอแสดงความยินดีกับทุกท่าน ที่มีโอกาสเข้าร่วมโครงการและได้รับการสนับสนุนงบประมาณในครั้งนี้ ซึ่งโครงนี้เป็นโครงการภายใต้แผนงานโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโรโคนา 2019 ที่ส่งผลกระทบไปถึงวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจ ด้านการสาธารณสุข ด้านการคมนาคม รวมถึงด้านอื่นๆ ของประเทศไทยและของโลก ในส่วนของครัวเรือนพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบที่สมัครเข้าร่วมโครงการของจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งหมด 3,960 แปลง ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย จึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องของคุณธรรม จริยธรรมและความซื่อสัตย์ ในการดำเนินงานทุกขั้นตอน เพราะถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกท่านพึงมี เป็นหลักสำคัญในการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม การยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม และความซื่อสัตย์นั้น จะส่งผลทำให้มีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ
ซึ่งการฝึกอบรมในครั้งนี้ เน้นเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ก่อให้เกิดประสบการณ์จริง สามารถเป็นประโยชน์ไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป สำหรับประเทศไทยของเรานั้น ถือเป็นเมืองแห่งเกษตรกรรม จึงอยากให้ยึดหลักกสิกรรมธรรมชาติและทำเกษตรอินทรีย์ในแปลงตัวอย่างของท่าน เพราะยังมีตลาดในบ้านเรารองรับอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนราชการทุกภาคส่วนพร้อมให้การสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้ห่วงใยและทุ่มเงินงบประมาณจำนวนมหาศาล เพื่อประโยชน์สุขและคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชน ส่งผลให้ประเทศไทยของเราน่าอยู่กว่าหลายประเทศ ภายใต้การฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาจากภัยโควิด-19
สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกท่านนำเอาความรู้ที่ได้ไปพัฒนาพื้นที่ของท่าน โดยการร่วมขับเคลื่อนให้เกิดศูนย์เรียนรู้หลักเศรษฐกิจพอเพียงหลักทฤษฎีใหม่ในรูปแบบโคก หนอง นา ในพื้นที่ เเละถ่ายทอดคนอื่นอย่างเป็นรูปธรรม อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนท้องถิ่น เป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการอบรมตลอดระยะเวลา 5 วัน 4 คืน ให้เต็มที่และขอกราบขอบพระคุณท่านพระครูสุขุมวรรโณภาส ที่ได้เมตตาสนับสนุนการดำเนินงานโครงการฯ และขอบคุณคณะวิทยากรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่สนับสนุนการฝึกอบรมในครั้งนี้” ประธานในพิธีฯ กล่าว
จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการอนุมัติงบประมาณดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบโคก หนอง นา ให้สามารถเป็นแกนนำขับเคลื่อนการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ โคก หนอง นา ดำเนินการ 48 รุ่นๆ ละ 5 วัน กลุ่มเป้าหมายเข้ารับการอบรม 4,790 คน ประกอบด้วยครัวเรือนพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตครัวเรือนละ 1 คน และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ จำนวน 898 คน ระยะเวลาดำเนินการระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 4 มิถุนายน พ.ศ. 2564 จุดดำเนินการ 5 แห่ง ดังนี้
1)ศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จำนวน 16 รุ่น
2)วัดป่าศรีแสงธรรม ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จำนวน 11 รุ่น
3)ศูนย์ฝึกอบรมวัดภูอานนท์ ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จำนวน 11 รุ่น
4)ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชนสารภีท่าช้าง ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จำนวน 5 รุ่น
5)ชุมชนต้นแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอนหมู ตำบลขามเปี้ย อำเภอตระการพืชผล จำนวน 5 รุ่น ซึ่งจุดที่ 4 และ 5 ดำเนินการฝึกอบรมเสร็จสิ้นแล้ว คงเหลือดำเนินการฝึกอบรมอยู่ 3 จุด
สำหรับการฝึกอบรมฯ รุ่นที่ 35 ระหว่างวันที่ 5-9 เมษายน 2564 ณ ศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ แห่งนี้ มีฐานการเรียนรู้ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ จำนวน 10 ฐาน ประกอบด้วย
1)ฐานคนมีไฟ
2)ฐานคนมีน้ำยา
3)ฐานคนเอาถ่าน
4)ฐานรักษ์แม่ธรณี
5)ฐานรักษ์แม่โพสพ
6)ฐานคนรักษ์สุขภาพ
7)ฐานคนรักษ์ดิน
8)ฐานคนรักษ์ป่า
9)ฐานคนรักษ์น้ำ
10)ฐานคันนาทองคำ
และมีกลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับการอบรมจากอำเภอเดชอุดม จำนวน 96 คน โดยได้รับการสนับสนุนวิทยากรที่ผ่านการอบรมจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติปูทะเลย์มหาวิชชาลัย ป่าดงใหญ่วังอ้อ ร่วมกับวิทยากรจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ทั้งนี้ ได้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังโรคไวรัส COVID-19 อย่างเคร่งครัด
อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี…ภาพข่าว/รายงาน