บนพื้นที่ของนายโรจนินทร์ ม่วงเพชร ประธานเครือข่าย Young Smart Farmer จ.พังงา จากเดิมพื้นที่เดินตรงนี้ปลุกปาล์มน้ำมันและได้ปรับเปลี่ยนมาทำนาข้าว โดยมีแนวคิดที่ว่าอยากนำวิถีเกษตรแบบเดิมให้ยังคงอยู่จากรุ่นสู่รุ่น เน้นความมั่นคงทางอาหาร จึงนำวิถีการทำนาข้าว ผสมผสานกับการทำเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ในพื้นที่ จนปัจจุบันได้มีการรวมกลุ่ม มีสมาชิก 14 ราย พื้นที่รวมกันทั้งหมดประมาณ 500 ไร่
นายโรจนินทร์ ม่วงเพชร ประธานเครือข่าย Young Smart Farmer จ.พังงา เล่าว่า สิ่งแรกเลยที่ต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงคือ การจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมกับบริบทที่มีอยู่ แล้วก็เรื่องของการสร้างเครือข่ายเน้นการมีวิถีเกษตรในครัวเรือน ในชุมชน ให้เกิดความรักสามัคคีกัน แล้วก็เรื่องของการทำกินเองในครอบครัวก่อนนำไปจำหน่าย เน้นให้มีความมั่นคงทางด้านอาหาร ก่อนจะก้าวสู่การเป็นเกษตรกรต้นแบบให้เกษตรกรท่านอื่นๆได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้วิถีเกษตรที่ตนได้ลงมือทำร่วมกับสมาชิกในชุมชน ให้ตระหนักถึงความมีค่าของสิ่งที่ผ่านมาในอดีตจนสามารถเผยแพร่ผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวไปสู่มือผู้บริโภคได้อีกด้วย
ทางกลุ่มเน้นวิถีแล้วก็ศาสตร์พระราชาเข้ามาใช้เพื่อน้อมนำในเรื่องของการดำเนินชีวิต แล้วก็เรื่องการเกษตร คือการเกษตรจริงๆแล้ว มี 2 แบบ คือเกษตรเพื่อชีวิตกับเกษตรพาณิชย์ เกษตรเพื่อชีวิตก็เรื่องของความมั่งคงของเรื่องอาหารในครอบครัวแล้วก็เรื่องของความสามัคคีในชุมชน และเรื่องของพาณิชย์คือมีรายได้จากการทำเกษตร เพราะฉะนั้นความเป็นอยู่หรือสภาพเศรษฐกิจในครอบครัวจากการอาศัยการทำเศรษฐกิจแบบพอเพียง หรือแนวทฤษฎีใหม่เป็นทางเลือกที่สามารถดำรงชีพได้อย่างมีความสุข ต่อยอดสู่ความมั่นคงในครอบครัวได้
โดยสถานีพัฒนาที่ดินพังงาก็ได้เข้ามาสนับสนุน ส่งเสริม ทั้งปัจจัยการผลิต องค์ความรู้ต่างๆตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นในการปรับเปลี่ยนพื้นที่เนื่องจากว่าเป็นพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ เริ่มจากการเข้ามาทดสอบดิน วิเคราะห์ดินว่าจากดินเดิมที่ใช้เพาะปลูกปาล์มน้ำมันเป็นหลักมากว่า 20 ปี ธาตุอาหารชนิดไหนหายไปบ้างและควรเสริมธาตุอาหารชนิดใดเข้าไปก็ได้มีการตรวจสอบตามหลักวิชาการและนำวัสดุปรับปรุงบำรุงมาให้ใช้ในพื้นที่ มีทั้งพืชปุ๋ยสด ปอเทือง ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ โดโลไมท์ พด.สูตร ต่างๆตามความเหมาะสม และคอยเป็นพี่เลี้ยงมาให้คำปรึกษาในพื้นที่อยู่เสมอ ส่งผลให้วันนี้เกษตรกรมีความเชื่อมั่นสามารถร่วมกันคิด ร่วมกันทำได้อย่างเข้มแข็ง
ด้านนางสาวยุพาพร นาควิสัย ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินพังงา กล่าวว่า สถานีพัฒนาที่ดินพังงาปฏิบัติงานในด้านการพัฒนาที่ดิน การฝึกอบรมผู้นำเกษตรกร การเผยแพร่กิจกรรมงานพัฒนาที่ดินในเขตของจังหวัดพังงา พร้อมกับการควบคุมการปฏิบัติงานของหน่วยงานของสถานีพัฒนาที่ดินพังงา ซึ่งเกษตรกรที่นี่จะมีรายได้และมีอาชีพที่มั่นคง สามารถที่จะพึ่งพาตนเองได้ เพราะเกษตรกรของจังหวัดพังงา มีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แล้วก็ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน
สถานีพัฒนาที่ดินพังงาก็ได้มาส่งเสริมความรู้ด้านวิชาการ ในด้านการส่งเสริมการทำน้ำหมักชีวภาพ การทำปุ๋ยหมัก แล้วก็ผลิตภัณฑ์สารเร่งพดต่างๆ สารปรับปรุงดิน โดโลไมท์ ปุ๋ยพืชสด แล้วก็มาสนับสนุนบริการวิเคราะห์ดินให้เกษตรกร ฝึกหมอดินให้วิเคราะห์ดินเป็น เพราะหมอดินจะเป็นหัวใจสำคัญของสถานีพัฒนาที่ดิน เป็นแกนนำในหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้าน แล้วก็จะมีโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน และตอนนี้ก็มีเป็นโครงการใหม่ของปี 64 เป็นโครงการของนโยบายของรัฐบาลจะสนับสนุนโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มทฤษฎีใหม่ เพื่อเป็นการลดต้นทุนให้เกษตรกรช่วงโควิด 19
“เมื่อเกษตรกรมีพื้นที่ดินที่ดี ชีวิตก็จะดีตามไปด้วย การทำน้ำหมักชีวภาพและการทำปุ๋ยหมักเพื่อลดต้นทุนของเกษตรกร จะเป็นผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค และจะทำให้ผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นค่ะ ถ้าเกษตรกรท่านไหนสนใจหรือประชาชนหรือหน่วยงานราชการท่านใดสนใจสามารถติดต่อได้ที่หมอดินอาสาของจังหวัดพังงาทุกหมู่บ้านเลยค่ะ”ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินพังงา กล่าว.
นอกจากนี้ พื้นที่ของพี่โรจนินทร์ ยังมีการดูแลพื้นที่โดยการปลูกหญ้าแฝก ตัดแต่งใบหญ้าแฝกคลุมโคลนต้นเผื่อรักษาความชุ่มชื้นของดิน ปลูกพืชหลากหลาย มีทั้งแตงโม ไม้ผล เช่น ทุเรียนพื้นบ้าน สาริกา หมอนทอง มูซังคิง หนานดำ ก้านยาว มังคุด ลองกอง จำปาดะ เงาะ เป็นต้น และไม้เศรษฐกิจ เช่น มะค่าโมง มะริด จำปาป่า พยูง ตะเคียนทอง ผาด้าม ไข่เขียว ตะเคียนสามพอน นาคบุตร บุญนาค และลูกเนียง สะตอ มะพร้ามน้ำหอม มะพร้าวน้ำหวาน ลูกจันเทศ เป็นต้น ไว้เป็นที่รองรับการเข้ามาศึกษาดูงาน ส่วนด้านผลผลิตข้าวก็ได้มีการแปรรูปเป็นข้าวสารบรรจุแพ็คละ 1 กิโลกรัม เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชนได้อีกด้วย