นายกรัฐมนตรี ชื่นชมประชาชนและทุกภาคส่วน อาสาปราบยุงลาย ควบคุมโรคไข้เลือดออกได้ผล

นายกรัฐมนตรี ชื่นชมประชาชน จิตอาสา และทุกภาคส่วน กว่า 3.3 แสนคน ร่วมพัฒนาสิ่งแวดล้อมและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ในกิจกรรมอาสาปราบยุงลาย ควบคุมโรคไข้เลือดออก ทำให้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกลดลงชัดเจน พร้อมเชิญชวนประชาชนยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ที่นำโดยยุงลายอย่างต่อเนื่อง

 

วันที่ 4 ธันวาคม 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล กทม. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเยี่ยมชมนิทรรศการสรุปผลการดำเนินงานกิจกรรม “อาสาปราบยุงลาย ควบคุมโรคไข้เลือดออก” โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมประชาชน จิตอาสา และหน่วยงานทุกภาคส่วน ที่ร่วมกันพัฒนาสิ่งแวดล้อมและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกลดลงอย่างเห็นได้ชัด พร้อมเชิญชวนประชาชนทุกคนให้ยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันโรคที่นำโดยยุงลาย

ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยสุขภาพของประชาชน อาจเจ็บป่วยด้วยโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกาได้ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดกิจกรรมจิตอาสา พัฒนาสิ่งแวดล้อมทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างเข้มข้น ระหว่างวันที่ 12 – 23 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่จากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น หน่วยจิตอาสาพระราชทาน และประชาชนจิตอาสา รวมทั้งสิ้น 335,869 คน ได้ร่วมกันสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ป้องกันโรคไข้เลือดออกพร้อมกันทั่วประเทศ ทำให้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกดีขึ้นอย่างชัดเจน ผู้ป่วยรายใหม่ในเดือนตุลาคม 2561 ลดลงเกือบ 3 เท่า เหลือเพียงประมาณ 1,500 รายต่อสัปดาห์ ส่วนเดือนพฤศจิกายนทั้งเดือนพบผู้ป่วยเพียง 2,197 ราย ซี่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังถึงร้อยละ 56 ได้ย้ำให้ทุกจังหวัดดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เน้นจุดเสี่ยงและร่วมกันทำลายเพาะพันธุ์ยุงลาย ป้องกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกในปีถัดไปตั้งแต่เนิ่น ๆ

 

ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย  กล่าวว่า กิจกรรมอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในครั้งนี้ จัดขึ้นในทุกจังหวัด ครอบคลุม 870 อำเภอ 7,012 ตำบล 72,800 หมู่บ้าน และกรุงเทพมหานคร ได้สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบ้าน 41,977,556 หลังคาเรือน ศาสนสถาน 273,259 แห่ง โรงเรียน 197,719 แห่ง และสถานพยาบาล 60,649 แห่ง ผลการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลายพบว่า ต่ำกว่าร้อยละ 6 ในทุกสถานที่ และต่ำกว่าร้อยละ 1 ในสถานพยาบาล มีหน่วยงานทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรมฯ 13,816 แห่ง ทั้งหน่วยงานราชการ ค่ายทหาร ธนาคาร สถานีตำรวจ โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ศาสนสถาน ไปรษณีย์ ด่านศุลกากร สถานพยาบาล ห้างสรรพสินค้า และพื้นที่สาธารณะในชุมชน

สำหรับมาตรการป้องกันโรคที่นำโดยยุงลายทำได้โดยการป้องกันไม่ให้ยุงกัด และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ จะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และไข้ปวดข้อยุงลาย

   ***************************************