องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมค้นพบ “แมลงช้างกรามโต” ชนิดใหม่ของโลก ในชื่อ “แมลงช้างกรามโตทัศนัย” Nevromus jeenthongi Piraonapicha, Jaitrong, Liu & Sangpradub, 2021 เผยจากตัวอย่างแมลงจากแหล่งน้ำในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ถูกจัดเก็บไว้ในคลังพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. ยาวนานกว่า 15 ปี พบเป็นแมลงช้างกรามโตชนิดใหม่ของโลก และถูกนำมาศึกษาวิจัยชี้ให้เห็นความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพของไทย รวมทั้งกระตุ้นศาสตร์ด้านอนุกรมวิธานวิทยาให้เป็นที่สนใจอย่างแพร่หลาย และผลักดันการศึกษาด้านอนุกรมวิธานสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ เพื่อนำองค์ความรู้ไปต่อยอดและถ่ายทอดสู่สังคมไทยต่อไปในอนาคต
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า “องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ อพวช. มีภารกิจในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยนำผลการศึกษาวิจัย การเก็บรักษาวัสดุตัวอย่าง ที่สำคัญและมีคุณค่า มาสร้างองค์ความรู้และถ่ายทอดไปสู่สังคม ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ซึ่งในระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา อพวช. ได้ดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพโดยเหล่านักธรรมชาติวิทยา มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งผลงานการค้นพบแมลงช้างกรามโตชนิดใหม่ของโลกโดยมีนักธรรมชาติวิทยา อพวช. ร่วมอยู่ในคณะผู้ศึกษาวิจัยและค้นพบแมลงช้างกรามโตทัศนัยนี้ ได้สร้างความสำคัญให้กับด้านการศึกษาวิจัยด้านธรรมชาติวิทยาให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในสังคม และหวังว่าองค์ความรู้เหล่านี้จะได้ถ่ายทอดไปสู่เยาวชน และประชาชนที่ได้หันมาสนใจเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมกันมากยิ่งขึ้น”
สำหรับ “แมลงช้างกรามโต” ชนิดใหม่ของโลก มีชื่อว่า “แมลงช้างกรามโตทัศนัย หรือ แมลงช้างกรามโตจีนทอง มีชื่อวิทยาศาสตร์ Nevromus jeenthongi Piraonapicha, Jaitrong, Liu & Sangpradub, 2021 และมีชื่ออื่น เช่น ตะขาบน้ำ อีตือ หงีด ไซบางทา โดยมีลักษณะเด่น ที่สีของส่วนหัว อก และลำตัวสีเหลือง ส่วนของ ninth sternum ของอวัยวะสืบพันธุ์ขยายใหญ่ และด้านข้างของอวัยวะสืบพันธุ์ ส่วนขอบด้านบนของ tenth gonocoxite เว้าลงเห็นได้ชัดเจน โดยตัวอ่อนแมลงช้างกรามโตสกุล Nevromus จะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีคุณภาพดี โดยเฉพาะบริเวณลำธารต้นน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำ ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำสูง จึงอาจใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงบริเวณแหล่งน้ำที่มีคุณภาพดี
คณะผู้ศึกษาวิจัย และค้นพบเแมลงช้างกรามโตทัศนัย (𝑵𝒆𝒗𝒓𝒐𝒎𝒖𝒔 𝒋𝒆𝒆𝒏𝒕𝒉𝒐𝒏𝒈𝒊)
ชื่อ แมลงช้างกรามโตทัศนัย Nevromus jeenthongi ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้กับ นายทัศนัย จีนทอง นักธรรมชาติวิทยาของ อพวช. ผู้เก็บตัวอย่างยาวนานมากว่า 15 ปี สำหรับการค้นพบผลงานการค้นพบแมลงช้างกรามโตชนิดใหม่ของโลกนี้ ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Tropical Natural History ฉบับที่ 21 เล่มที่ 1 หน้า 107-114 เดือนเมษายน พ.ศ. 2564 โดยมี คุณกัลยกร พิราอรอภิชา นักศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล แสงประดับ , ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง นักวิชาการ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ Prof. Dr. Xingyue Liu จาก Department of Entomology, China Agricultural University สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นคณะผู้ศึกษาวิจัยและค้นพบแมลงช้างกรามโตทัศนัยนี้
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย และแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการมีอยู่ของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ในการรักษาซากของสิ่งมีชีวิตที่เปรียบเสมือนสมบัติของชาติ เพื่อการเรียนรู้และต่อยอดองค์ความรู้แก่นักวิจัย อาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ นักศึกษา และนักเรียนทั้งในและต่างประเทศต่อไป