วันที่ 3 ธันวาคม 2561 เวลา 10.00 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ครั้งที่ 2/2561 ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมี พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมประชุม อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราวของทางการเมียนมา ณ บริเวณตลาดทะเลไทย เพื่อจัดเก็บข้อมูลเฉพาะแรงงานเมียนมา ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 แรงงานเมียนมาที่ต้องการเปลี่ยนเอกสารประจำตัวเป็นหนังสือเดินทาง (กลุ่มที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติหรือจัดทำทะเบียนประวัติในประเทศไทยที่ถือหนังสือเดินทาง (Passport) หนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport : TP) และเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity : CI)) โดยทางการเมียนมาใช้คำว่า กลุ่มคน Function A และกลุ่มที่ 2 แรงงานเมียนมาตาม MOU ที่ต้องการจัดทำเป็นหนังสือเดินทางฉบับใหม่ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนให้กับแรงงานเมียนมาที่ประสงค์จะกลับเข้ามาทำงานตาม MOU เมื่อวาระการจ้างงานครบ ๔ ปี แล้วโดยทางการเมียนมาใช้คำว่ากลุ่มคน Function B โดยกลุ่มคนทั้งสองกลุ่มจะต้องยื่นเอกสารตามที่ทางการเมียนมากำหนด เมื่อผ่านการตรวจสอบแล้ว จึงจะสามารถขอรับหนังสือเดินทางได้ที่สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทยหรือ ศูนย์ออกหนังสือเดินทางบริเวณชายแดนแม่สาย – ท่าขี้เหล็ก, แม่สอด – เมียวดี และระนอง – เกาะสอง โดยวัตถุประสงค์ของศูนย์ฯคือ การเก็บข้อมูลของแรงงานเมียนมาที่ขอหนังสือเดินทาง ซึ่งจะเปิดดำเนินการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 ปี เปิดทำงานวันจันทร์ – วันเสาร์ เว้นวันอาทิตย์ และวันหยุดราชการไทยกำหนด ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. หรือจนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ และจะไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายอื่นใดทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาความเหมาะสมของประเทศต้นทางเพื่อกำหนดให้คนต่างด้าวที่มีสัญชาติของประเทศต้นทางเข้ามาทำงานกรรมกรในประเทศไทย โดยพิจารณาเห็นชอบให้คนต่างด้าวที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานกรรมกรในประเทศไทยต้องเป็นคนต่างด้าวที่มีสัญชาติของประเทศคู่ภาคีที่รัฐบาลไทยได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) หากปรากฏว่ามีกำลังแรงงานของคนต่างด้าวของประเทศคู่ภาคีไม่เพียงพอต่อความต้องการแล้ว เห็นควรให้มีการพิจารณาจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับประเทศที่เหมาะสมเพิ่มเติม ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะนำเรื่องการเปิดศูนย์เพื่อเก็บข้อมูลแรงงานชั่วคราวของทางการเมียนมา ณ จังหวัดสมุทรสาคร และมาตรการในการอนุญาตให้คนต่างด้าวที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานกรรมกรในประเทศไทยเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเลนั้น ขณะนี้มีผลการนำเข้าแรงงานประมงตาม MOU จากประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา (ข้อมูล ณ วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑) ดังนี้ 1. นายจ้างจำนวน ๑,๒๔๔ ราย ยื่นคำร้องขอนำเข้าแรงงานจำนวน ๑๔,๔๙๖ คน (เมียนมา ๘,๕๑๓ คน ลาว ๔๗๘ คน กัมพูชา ๕,๕๐๕ คน) 2. กระทรวงแรงงานจัดส่งเรื่องไปดำเนินการที่สถานทูต จำนวน ๙,๗๖๘ คน (เมียนมา ๔,๖๔๖ คน ลาว ๓๕๔ คน กัมพูชา ๔,๗๖๘ คน) 3. นายจ้างยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวจำนวน ๑,๙๓๒ คน (เมียนมา ๘๗ คน ลาว ๖๗ คน กัมพูชา ๑,๗๗๘ คน) ขณะที่การดำเนินมาตรการเร่งด่วนชั่วคราวในการออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง ซึ่งกรมประมงได้เปิดให้นายจ้างแจ้งความต้องการจ้างแรงงาน ตั้งแต่วันที่ ๑๕ – ๒๖ พฤศจิกายน 2561 ณ 22 จังหวัดชายทะเล มีผลการดำเนินการคือ นายจ้างมาแจ้งความต้องการ จำนวน ๗๕๔ ราย แจ้งความต้องการจ้างแรงงาน ๑๖,๓๕๑ คน