ประวัติศาสตร์ผ้าไทย อธิบดี พช. ปลื้มใจ จังหวัดตราด คือ จิ๊กซอว์สำคัญในการทอผ้าครบทั้ง 77 จังหวัด เพื่อสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย เสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง

วันที่ 30 มีนาคม 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้ นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานพิธีปิดการฝึกอบรมทักษะการทอผ้าตามโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการทอผ้า จังหวัดตราด พร้อมด้วย นายกัฬชัย เทพวรชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด นางศิริรัตน์ โพธิ์ทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบางปิดล่าง นายมนตรี ฮมแสน พัฒนาการจังหวัดตราด เจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน และผู้เข้าร่วมเป็นเกียรติทุกท่านที่เข้าร่วมในพิธีฯ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความรู้ ฝึกทักษะการทอผ้าให้แก่ผู้สนใจ และจัดตั้งกลุ่มอาชีพการทอผ้าในพื้นที่ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด จำนวน 20 คนและนักเรียนโรงเรียนวัดบางปิดล่างจำนวน 5 คน รวมทั้งหมด 25 คน โดยมีนายณกรณ์ ตั้งหลัก วิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านผ้าไทยจากจังหวัดมหาสารคามมาให้ความรู้ และฝึกปฏิบัติการทอผ้า ระหว่างวันที่ 1-30 มีนาคม 2564 รวม 30 วัน พร้อมมอบวุฒิบัตรแก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมและประกาศเกียรติคุณแก่โรงเรียน และครูภูมิปัญญาด้านการทอผ้า ณ โรงเรียนวัดบางปิดล่าง ตำบลบางปิด จังหวัดตราด

นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวขอบคุณ ยินดีกับทุกท่านที่ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการทอผ้า เพื่อสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ได้สำเร็จ ตามที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย นำโดย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ที่เป็นภาคีเครือข่ายของกรมการพัฒนาชุมชนมาเป็นอย่างดี และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผ้าไทย เพื่อสนองพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระองค์ทรงรื้อฟื้นผ้าทั่วประเทศ เป็นการสนองงาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงอยากเห็นคนไทยคงรักษาภูมิปัญญาผ้าไทย และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชปณิธาน ในวันสตรีไทย 1 สิงหาคม 2562 จะสนองพระเดชพระคุณ พระมหากรุณาธิคุณ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เหมือนดั่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด แผ่ขยายพระบารมีแห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี ดำรงรักษาผ้าถิ่นไทยไว้ รวมถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกาย ในการที่จะสืบสาน แนวพระราชปณิธานของสมเด็จพระพันปี ทรงศึกษาเรื่องผ้า คิดค้น รวมทั้งพระราชทานลายผ้า “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน สู่พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน เป็นความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ทางกรมการพัฒนาชุมชน จึงมุ่งสร้างความรู้ และฝึกทักษะการทอผ้า เพื่อสืบสานพระราชปณิธานพระองค์ท่าน โดยเฉพาะการอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน ประกอบกับคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ซึ่งเป็นช่องทางในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการผ้า ทางกรมการพัฒนาชุมชนจึงได้สนับสนุนให้มีการจัดโครงการนี้ขึ้น ด้วยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและค่าวัสดุอุปกรณ์ ในส่วนของกี่ทอผ้าได้รับความอนุเคราะห์ จากผู้ประกอบการ OTOP ในจังหวัดตราด และจังหวัดต่างๆ ในการสนับสนุนกี่ทอผ้ารวมทั้งสิ้น 25 หลัง เพื่อมอบแก่กลุ่มทอผ้า ได้นำไปฝึกปฏิบัติ เพิ่มทักษะในด้านการทอผ้านั้น ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ของผู้เข้ารับการอบรมทุกท่านที่ไม่มีทักษะในด้านการทอผ้าเลย ได้เข้ามาเรียนรู้อบรมจากผู้เชี่ยวชาญการทอผ้า ทำให้ปัจจุบันสามารถทอผ้าเป็นผืนได้ และนำผ้ามาจัดแสดงโชว์ ทำให้มียอดสั่งซื้อ สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกกลุ่ม จำนวน 36,600 บาท และยังมียอดสั่งจองจากผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นที่ปลาบปลื้มใจแก่สมาชิกกลุ่มเป็นอย่างมาก รวมถึงสมาชิกกลุ่มยังมีการต่อยอด ออกแบบลวดลายให้เป็นเอกลักษณ์ของคนจังหวัดตราด คือ การทอผ้าลวดลายหญ้าทะเล และคาดหวังว่า ผ้าจังหวัดตราดจะได้ขึ้นโชว์และสามารถนำไปวางจำหน่ายในงาน OTOP นอกจากนี้ กรมการพัฒนาชุมชน ยังได้มีการสนับสนุนทุนแก่กลุ่มทอผ้า เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและเพิ่มพูนทักษะของกลุ่ม โดยมีงบประมาณจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เพื่อสนับสนุนในด้านองค์ความรู้ วัสดุอุปกรณ์ ในการประกอบอาชีพเพิ่มเติม เพื่อต่อยอดในการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งให้กับสมาชิกกลุ่มต่อไป

นายกัฬชัย เทพวรชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรม ทักษะการทอผ้าในครั้งนี้ มีความตั้งใจในการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติเป็นอย่างดี จนสามารถทอผ้าได้สำเร็จเป็นผืนแรกของจังหวัดตราด ดังจะเห็นได้ว่าจากกลุ่มเป้าหมายในการเข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 20 คน มีผู้เข้ารับการอบรมจริง จำนวน 25 คน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจของผู้เข้ารับการฝึกอบรมในการเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์จากครูภูมิปัญญาทอผ้าอย่างเต็มที่ และที่น่ายินดีอีกประการหนึ่งคือ มีครูและนักเรียนของโรงเรียนวัดบางปิดล่างได้เข้าร่วมการฝึกอบรมฝึกทักษะการทอผ้า และขอขอบคุณครูภูมิปัญญาทุกๆ ท่านที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างแท้จริง ที่ได้เสียสละเวลาทุ่มเทกำลัง แรงใจ ความรู้ ความสารถ ในการถ่ายทอดภูมิปัญญาการทอผ้าให้คงอยู่สืบไป สามารถสอนให้คนที่ไม่เคยมีทักษะการทอผ้าเลย สามารถทอผ้าได้ ทำให้จังหวัดตราด ซึ่งไม่เคยมีการทอผ้ามาก่อน ได้มีการทอผ้าสำเร็จเป็นผืนแรกของจังหวัด สามารถนำความรู้และทักษะการทอผ้าที่ได้จากการฝึกอบรมไปพัฒนาต่อยอด โดยดำเนินการในรูปแบบของกลุ่มให้กลุ่มสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้แก่สมาชิก โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารงานในรูปแบบกลุ่ม รวมถึงการพัฒนาต่อยอดอื่นๆ ต่อไปในอนาคต เพื่อให้กลุ่มสามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างยั่งยืนต่อไป ในส่วนของโรงเรียนบางปิดล่างนั้น ขอให้โรงเรียนได้มีการฝึกปฏิบัติการทอผ้า เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ของเด็กๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กๆ ในชุมชนได้มีความรู้และทักษะการทอผ้าตั้งแต่เด็ก รวมถึงกรมการพัฒนาชุมชน ที่สืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย หนุนกลุ่มอาชีพทอผ้าเสริมความรู้ สร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

นายมนตรี ฮมแสน พัฒนาการจังหวัดตราด กล่าวรายงาน จากการขับเคลื่อนการฝึกอบรมทักษะการทอผ้า ตามโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการทอผ้า จังหวัดตราด โดยมีกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่อำเภอแหลมงอบ จำนวน 2 กลุ่ม ๆ ละ 10 คน ได้แก่ กลุ่มอาชีพทอผ้าบ้านธรรมชาติล่าง ตำบลคลองใหญ่ และกลุ่มอาชีพทอผ้าบางปิด ตำบลบางปิด และนักเรียนโรงเรียนวัดบางปิดล่าง 5 คน รวมทั้งหมด 25 คน ซึ่งมีการฝึกอบรมระหว่างวันที่ 1 – 30 มีนาคม 2564 รวม 30 วัน ในส่วนของกี่ทอผ้าได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จากจังหวัดตราด และจังหวัดต่างๆ จำนวน 24 ท่าน รวม 25 หลัง เพื่อมอบให้แก่ กลุ่มอาชีพทอผ้าบ้านธรรมชาติล่าง จำนวน 10 หลัง กลุ่มอาชีพทอผ้าบางปิด จำนวน 10 หลัง และโรงเรียนวัดบางปิดล่าง จำนวน 5 หลัง ได้รับความอนุเคราะห์จากครูภูมิปัญญาด้านการทอผ้าจากจังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 5 ท่าน ที่ได้เดินทางมาถ่ายทอดความรู้ทั้งด้านทฤษฎี และการฝึกปฏิบัติแก่ผู้เข้ารับการอบรมในพื้นที่นานถึง 30 วัน รวมทั้งได้รับความอนุเคราะห์จากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดนครราชสีมา สำนักงานหม่อนไหมเขต 4 กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาช่วยฝึกฟอกการย้อมเส้นไหม
ผลการฝึกอบรม พบว่า ผู้เข้ารับการอบรมให้ความสนใจ และตั้งใจเรียนรู้ในการฝึกปฏิบัติ การทอผ้าเป็นอย่างดี ทำให้กลุ่มทอผ้าประสบความสำเร็จ เป็นที่น่าภาคภูมิใจของคนจังหวัดตราด ดังนี้

1. กลุ่มทอผ้าบางปิด มีผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 11 ราย สามารถทอผ้าสำเร็จ เป็นผืนแรกของกลุ่มและของจังหวัดตราด โดยนางสาวเสาวภา สรรพศิริ เป็นผู้ทอ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 ซึ่งมีความยาว 17.55 เมตร

2. กลุ่มทอผ้าบ้านธรรมชาติล่าง มีผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 13 ราย สามารถทอผ้าสำเร็จ เป็นผืนแรกของกลุ่มและของจังหวัดตราด โดยนางประกาย แดนดงสุข เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 ซึ่งมีความยาว 17.42 เมตร

3. โรงเรียนวัดบางปิดล่าง ได้มีครูและนักเรียนเข้าร่วมการฝึกอบรมทักษะทอผ้าอย่างต่อเนื่อง

นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในโอกาสนี้ขอขอบคุณและชื่นชมกลุ่มทอผ้าโรงเรียนบ้านธรรมชาติล่างและกลุ่มทอผ้าโรงเรียนวัดบางปิดล่าง ที่ช่วยกันรวมกลุ่ม รวมถึงพี่น้องกลุ่ม OTOP ที่ช่วยบริจาคกี่ทอผ้าแก่กลุ่ม ช่วยกันดูแล สร้างสิ่งดีๆ ถักทอบนพื้นผ้าต่อไป แสดงให้เห็นนิมิตรหมายที่ดี ของการรวมกลุ่มเพื่อสนองแนวพระราชดำริ ในการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ในการส่งเสริมการประกอบอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อเป็นการรักษาความกตัญญูต่อการอนุรักษ์ผ้าไทยของบรรพบุรุษให้คงอยู่คู่แผ่นดิน ตลอดจนกระจายรายได้สู่ชุมชนฐานราก ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่มแก่ประเทศชาติ และหวังว่าในอนาคตจังหวัดตราด จะสามารถผลิตผ้าทอ ที่ทรงคุณค่า มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์งดงามแก่สายตาชาวไทยต่อไป

………………………………….