สมาคมการจัดการของเสีย (ประเทศไทย) ร่วมแสดงความมุ่งมั่นในการลดพลาสติกฟุตปรินท์กับหน่วยงานภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคการศึกษาของไทย

กรุงเทพฯ 26 มีนาคม 2564 สมาคมการจัดการของเสีย (ประเทศไทย) หรือ SWAT เปิดตัวโครงการลดพลาสติกฟุตปรินท์ภายใต้ชุดโครงการ SEA circular ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme) ซึ่งริเริ่มมาจาก the Coordinating Body on the Seas of East Asia (COBSEA) และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรสวีเดน เพื่อลดปัญหามลพิษจากพลาสติกในมหาสมุทร

ในแต่ละปี ขยะพลาสติกราวแปดล้านตันรั่วไหลลงสู่ทะเลและมหาสมุทร มลพิษจากพลาสติกเหล่านี้ส่งผลกระทบทางตรงอย่างรุนแรงต่อสัตว์น้ำและสภาพแวดล้อม มีการคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2593 จะมีปริมาณพลาสติกในมหาสมุทรมากกว่าจำนวนปลา สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศของโลกอย่างประเมินค่ามิได้ เพื่อที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงความมุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบจากพลาสติก (พลาสติกฟุตปริ้นท์)) สมาคมฯ และหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ จึงได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ณ โรงแรมสุโกศล ในวันนี้

หนึ่งในเป้าหมายหลักสำคัญของโครงการลดพลาสติกฟุตปรินท์ คือการลดการใช้พลาสติกและเพิ่มการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนสมาคมฯ จะดำเนินโครงการนี้ร่วมกับบริษัทและองค์กรต่างๆ ในประเทศไทย เพื่อช่วยศึกษาการใช้และทิ้งพลาสติกในปัจจุบัน บ่งชี้โอกาสในการลดผลกระทบ และสนับสนุนการลงมือปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

สมาคมฯ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากบริษัทและองค์กรต่างๆ จากหลายภาคส่วน เช่นอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ผลิตพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ ภาคบริการ และภาคการศึกษา ประกอบไปด้วย บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน), บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน), บริษัท คอสมอสบริวเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน), โรงแรม เดอะ สุโกศล, โรงแรมซิกเซ้นส์ รีสอร์ท สปาร์, บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด, บริษัท ซีเท็กซ์อินดัสตรีคอร์ปอเรชั่น จำกัด, เทศบาลตำบลเวียงเทิง จ.เชียงราย, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, โรงเรียนวัดสร้อยทอง และโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย

บริษัทและองค์กรต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและยินดีเป็นหน่วยงานนำร่องเพื่อร่วมศึกษาและร่วมกันพัฒนาแนวทางการลดพลาสติกฟุตปริ้นท์ ตามแนวทางของ The Ocean Recovery Alliance (ORA) องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและฮ่องกง เป็นผู้ให้ร่วมให้การสนับสนุนวิธีการศึกษาการประเมินพลาสติกฟุตปริ้นท์ในโครงการนี้

“มลพิษจากขยะพลาสติกในทะเล เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก และเราต้องลงมือแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน สมาคมฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบริษัทและองค์กรต่างๆ ที่ร่วมโครงการในครั้งนี้จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยต่อไป” ดร.จินดารัตน์ เทเลอร์ ประธานโครงการฯ และอุปนายกสมาคมฯ กล่าว

“การเรียนรู้ร่วมกันและการแลกเปลี่ยนแนวความคิดเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของโครงการนี้และเราจะมีการจัดงานประชุมสัมมนาเพิ่มเติมเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวในช่วงระยะเวลาของโครงการนี้” คุณภัทรพล ตุลารักษ์ ผู้จัดการโครงการฯ และเลขาธิการสมาคมฯ กล่าวเพิ่มเติม

 

ศ.ดร. อรทัย ชวาลภาฤทธิ์ นายกสมาคมฯ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “โครงการนี้มีความสำคัญสำหรับการจัดการสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในประเทศไทย และดิฉันรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดตัวโครงการลดพลาสติกฟุตปรินท์ในวันนี้ เนื่องจากในปีที่ผ่านมาเราได้พยายามดำเนินงานกันไปแล้วบางส่วนในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19”