เรื่องราวระหว่างการเดินทาง สำคัญพอๆ กับจุดหมายการเดินทาง และเรื่องราวเหล่านั้นต้องสอดแทรกความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไปด้วย …นั่นคือจุดเริ่มต้นการเดินทางของ #นักเดินทางเพื่อสังคม
หลายคนออกเดินทางแล้วไปถึงจุดหมายเพียงเพื่อสัมผัสกับปลายทางโดยละเลยความรับผิดชอบระหว่างทาง แต่ #นักเดินทางเพื่อสังคม จะคำนึงอยู่เสมอในทุกย่างก้าวที่ต้องเอาความรับผิดชอบไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ เช่น การใช้บริการขนส่งของคนในท้องถิ่น การซื้อสินค้าชุมชน การพักที่พักของชุมชน เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้สามารถขับเคลื่อนไปได้
ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งสำคัญที่นักเดินทางต้องคำนึงถึงเสมอ ทุกที่ที่ไปจะต้องไม่ไปเพิ่มภาระการจัดการขยะให้กับสถานที่นั้นๆ การทำลายธรรมชาติทั้งทางตรงหรือทางอ้อม การเด็ดใบไม้ ดอกไม้ หักกิ่งไม้ การส่งเสียงดังรบกวนสัตว์ป่า การเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติ หรือแม้แต่การสูบบุหรี่แล้วทิ้งก้นบุหรี่จนเป็นสาเหตุของไฟทำลายทุกสรรพสิ่ง ก็ต้องคิดตลอดเวลา
และความรับผิชอบต่อสังคม ซึ่งถือเป็นเป้าหมายของการเดินทางของ “นักเดินทางเพื่อสังคม” ที่เราจะเข้าไปสนับสนุน สร้างเสริม และเรียนรู้ ให้ชุมชนเกิดการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น และสามารถดำรงวิถีชีวิตอยู่ได้ตามสภาพชุมชนดั้งเดิมอย่างยั่งยืน
การเดินทางของนักเดินทางเพื่อสังคม ตอน “รุมต่อโต๊ะเพื่อน้อง” ครั้งนี้ จุดหมายของเราอยู่ที่ “ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงบ้านห้วยทรายเหลือง” อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่การเดินทางเข้าไปนั้นไม่ธรรมดาเลย
เริ่มต้นการเดินทางจากสนามบินเชียงใหม่ ด้วยรถรับจ้างสองแถวของคนเชียงใหม่ มุ่งหน้าอำเภอจอมทอง เลี้ยวขวาขึ้นดอยอินทนนท์ แวะพักเพื่อเข้าไปเรียนรู้หมู่บ้านท่องเที่ยว “บ้านแม่กลางหลวง” หมู่บ้านที่มีกาแฟชุมชนแบรนด์ “สมศักดิ์” ชงแบบบ้านๆ คั่วเอง บดด้วยเครื่องบดกำลังแขน ต้มน้ำเดือดๆ เทชงสดๆให้ดื่ม รสชาติแรงใช้ได้ นอกจากนั้นทิวทัศน์ที่นี่ก็สวยงามด้วยนาขั้นบันได ฉากหลังเป็นภูเขาสูงยอดดอยอินทนนท์ อากาศเย็นสบายถึงกับหนาว ที่แม่กลางหลวงมีบ้านพักแบบโฮมสเตย์ให้พักหลายหลัง
บ้านแม่กลางหลวง มีการจัดการท่องเที่ยวชุมชนโดยคนในชุมชนจัดการกันเอง มีการแบ่งพื้นที่ แบ่งโซนบ้านพัก ร้านอาหาร ร้านกาแฟ มีการจัดการขยะอย่างดี ร้านค้าชุมชนมีสินค้าที่ผลิตขึ้นเอง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าชาวเขา ย่าม ของที่ระลึก ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ขาดสาย
เดินทางต่อผ่านด่านตรวจของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ก็เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเล็กๆ แคบๆ เพื่อเข้าสู่อำเภอแม่แจ่ม เส้นทางนี้คดเคี้ยวและอันตราย ต้องใช้ทักษะในการขับรถอย่างมาก หากใครที่เมารถประจำต้องไม่ประมาทที่จะติดยาแก้เมารถไปด้วย เส้นทางนี้ผ่านป่าสนเขา ป่าดิบชื้น ดิบแล้ง จนใกล้ถึงอำเภอแม่แจ่ม จะมีพื้นที่ที่เป็นภูเขาหัวโล้นสลับกับป่าไม้ ซึ่งหลายๆแห่งกำลังจะกลับคืนสภาพป่าไม้ เนื่องจากอำเภอแมแจ่มมีมาตรการของท้องถิ่นในการจัดการกับการปลูกพืชทำลายดิน อาทิ ข้าวโพด ทำให้ชาวบ้านหลายคนเลิกปลูกหันไปทำการเกษตรอย่างอื่นแทน ซึ่งถือว่าเป็นการจัดการคืนสภาพธรรมชาติที่ได้ผลในระดับหนึ่ง
เรามาถึงตัวอำเภอแม่แจ่มในช่วงบ่าย ไปตรวจสิ่งของที่ส่งมาก่อนหน้าเพื่อนำขึ้นดอยในวันรุ่งขึ้น จากนั้นก็เที่ยวชมชุมชนแม่แจ่ม ที่ยังคงสภาพของชุมชนดั้งเดิมไว้ได้บ้าง แต่ก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น การรุกคืบของธุรกิจจากส่วนกลางเริ่มคุกคามทำให้วิถีธุรกิจเดิมของแม่แจ่มค่อยๆหายไป การเข้ามาของคนต่างถิ่นเพื่อประกอบธุรกิจที่พัก ร้านอาหาร หรือกว้านซื้อที่ดินมีมากขึ้น ซึ่งหากจะต้องการรักษาความเป็นแม่แจ่มดั้งเดิมหรือวิถีเก่าแก่ไว้ ก็คงต้องหามาตรการป้องกัน ก่อนที่แม่แจ่มจะหลายเป็นอำเภอที่ไม่น่าสนใจด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อีกต่อไป
รุ่งเช้าวันใหม่ เราไปเดินตลาดเช้าของแม่แจ่ม เพื่อเตรียมอาหารและสิ่งของสำหรับขึ้นดอยห้วยทรายเหลือง ท่ามกลางอากาศเย็นสบายถึงหนาว ชาวนาเกี่ยวข้าวด้วยการส่องไฟหน้าตั้งแต่เช้ามืดเพื่อเกี่ยวข้าวให้ได้มากๆก่อนตะวันสาดแสงแดดแรงแล้วจะเหนื่อยก่อน มองแม่น้ำแม่แจ่มไหลเอื่อยที่กำลังโดนรุกรานจากบ้านเรือนริมฝั่ง ตลาดยังขาดการจัดการขยะที่ดี น้ำเสียจากตลาด ขยะทั้งสดและแห้งทิ้งเกลื่อน บ้างก็ปลิวหรือตกลงไปในแม่น้ำ ส่วนของที่วางขายก็จะมีทั้งมาจากท้องถิ่น มีพืชผักแปลกตา อาหารเหนือหลายเมนู และของที่รับมาจากข้างนอก
เราได้ของเพียงพอจากนั้นรับประทานอาหารเช้าแกล้มกาแฟชมท้องทุ่งนาแม่แจ่มแบบฟินๆ ขนของขึ้นรถกระบะและพร้อมออกเดินทางสู่ “ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงบ้านห้วยทรายเหลือง” ระยะทางก็ราวๆ 100 กิโลเมตร จากตัวอำเภอ
เส้นทางระยะแรกกว่า 80 กิโลเมตร ตามถนนสายแม่แจ่ม-ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ช่างคดเคี้ยวชวนเมารถอย่างยิ่ง เส้นทางขึ้นเขา ไต่สันเขา ทิวทัศน์สองข้างทางสวยงาม ป่าไม้ยังเขียวขจี ระหว่างทางมีป่าดอกบัวตองเป็นระยะ มีที่พักรถชมวิวสวยๆ บางช่วงมีลานรับซื้อและสีข้าวโพดที่ชาวบ้านนำมาสีและขาย จุดนี้ส่งผลให้เกิดฝุ่นซังข้าวโพดเป็นบริเวณกว้าง
ก่อนเลี้ยวเข้าบ้านห้วยทรายเหลือง เราพักรับประทานอาหารเที่ยงก่อน ณ ที่นี้เราได้พบกับแหล่งรวบรวมรับซื้อ สตรอเบอรี่จากไร่ เราก็ไม่รอช้าที่จะเข้าไปซื้อและชิมแบบอร่อยชุ่มคอ แก้อาการเมารถได้อย่างดี ก่อนที่จะได้รับทราบว่าราคาของผลผลิตปีนี้ไม่ค่อยดี เศรษฐกิจแย่ ค้าขายฝืด คนรับซื้อต้องรับซื้อจากเกษตรกรทั้งหมด ขณะที่การขายต่ออาจไม่ได้ราคา แต่ก็ต้องซื้อเพราะคนปลูกต้องกิน ต้องอยู่ ต้องเลี้ยงครอบครัว ถ้าไม่รับซื้อไว้จะทำให้ลำบากกันไปทั่ว
เส้นทางเข้าหมู่บ้านห้วยทรายเหลืองนั้นลำบากมาก …ย้ำว่า มากกกกก ผิวทางขรุขระ เต็มไปด้วยหินก้อนใหญ่ บางช่วงขึ้นเขา ทางถูกน้ำเซาะเป็นหลุมร่องลึก บางช่วงลื่นเพราะหมอกตอนเช้าและอากาศชื้น หากเป็นช่วงหน้าฝนจะต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น และกว่าจะผ่านได้แต่ละกิโลเมตรนั้นใช้เวลานานมาก ส่วนร่างกาย โดยเฉพาะช่วงบั้นเอว ลำไส้ และคอ ก็ต้องสั่นไหวโหยหายาแก้ยอกคลายกล้ามเนื้อตามกันไป
เราแวะพักที่หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยทรายเหลือง เพื่อต่อรถขับเคลื่อนสี่ล้อขึ้นชมดอยตะปี่โด่ ดอยสูงที่ทิวทัศน์สวยงามและอากาศหนาวเย็นตลอดปี ใช้เวลาประมาณ 45 นาทีในการขึ้นไป จากนั้นเดินต่อประมาณ 1 กิโลเมตรเพื่อชมความงดงามของดอยแห่งนี้
ยอดดอยตะปี่โด่อากาศหนาวเย็น ลมพัดแรง แต่สวยงามอย่างน่าหลงใหล ไม่น่าเชื่อว่าวิวทิวทัศน์ที่เราว่าของต่างประเทศสวยงามนั้น ที่นี่ไม่แพ้ที่ใดเลย และยิงพิเศษกว่านั้นดอยแห่งนี้ยังเป็นแหล่งของ “กุหลาบพันปี” ดอกไม้ที่ขึ้นตามภูเขาสูงและอากาศหนาวเย็นเท่านั้น ครั้งนี้เรามาพบกับกุหลาบพันปีที่บานสะพรั่ง 1 ต้น ทั้งที่ปกติแล้วจะบานในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ แต่เป็นโชคดีของเราที่ได้เห็น ซึ่งการมาที่นี้จำเป็นอย่างยิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องมีส่วนในการดูแล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะที่ห้ามทิ้ง การเด็ดใบ ดอก หรือหักกิ่งไม้ และที่สำคัญคือต้องไม่สูบบุหรี่หรือก่อไฟเด็ดขาด เนื่องจากดอยตะปี่โด่เคยเกิดเหตุไฟไหม้แล้วต้นกุหลาบพันปีตายไปมากกว่าครึ่ง ซึ่งเราต้องให้ความสำคัญในการดูลรักษาด้วย
เราเข้าถึง “ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงบ้านห้วยทรายเหลือง” ในช่วงเวลาค่ำ ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนเผ่ากะเหรี่ยง มารอเต็มไปหมด ต่างช่วยกันขนของลงรถ ประกอบโต๊ะ เก้าอี้ ชั้นหนังสือ ที่เรานำมาให้กับน้องๆ ได้เรียนหนังสือ เพราะเดิมนั้นน้องๆ ต้องนั่งเรียนกับพื้น ไม่สะดวกต่อการเรียนการสอน การนำโต๊ะ เก้าอี้ มาในครั้งนี้ถือว่าเป็นการสนับสนุนให้เกิดการเรียนการสอนที่ดีขึ้น ส่วนชั้นหนังสือและหนังสือเพื่อการเรียนรู้นั้น เราก็นำมาด้วย
ต่างคนต่างช่วยกัน ใช้เวลาไม่นานทุกอย่างก็เสร็จ ก็นำไปจัดเรียงเป็นชั้นเรียน พร้อมสำหรับการเรียนการสอนในวันรุ่งขึ้น แล้วก็มานั่งประชุมหารือกันเรื่องปัญหาและความต้องการของชุมชน ค้นหาความอยากมีอยากได้และการคงอยู่ของวิถีชุมชน เพื่อหาประเด็นในการดูแลสนับสนุนหรือส่งเสริมตามแนวทางการพัฒนาต่อไป
จากนั้นเราก็ไปช่วยกันทำกับข้าวทั้งสำหรับเย็นนี้ และเตรียมก๋วยเตี๋ยวเลี้ยงน้องในเที่ยงวันต่อไป คืนนี้ก่อนนอนครูอาสาของ “ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงบ้านห้วยทรายเหลือง” ก็ก่อกองไฟผิง เผามันแกวร้อนๆ นั่งชมดาว รอดวงจันทร์ ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นของค่ำคืนที่แสนสงบเงียบไร้แสงไฟ ไร้ไฟฟ้า และไร้สัญญาณโทรศัพท์
ตื่นเช้าด้วยอากาศหนาวจัดและฝนที่ตกลงมาต้อนรับนักเดินทางเพื่อสังคม จนเป็นห่วงว่าเราจะออกจากพื้นที่ได้ไหม เนื่องจากหากเส้นทางเละโคลนตมนั้นจะต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อแบบล้อพันด้วยโซ่เท่านั้น แต่ก็ตกไม่นานเราก็ได้คำยืนยันจากเจ้าของรถว่าสามารถออกได้
หมายต่อไปของเรา คือการพาชุมชนที่ยังไม่มั่นใจในเรื่องการปลูกกาแฟ เข้าเรียนรู้ในแปลงปลูกกาแฟของ “ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงบ้านห้วยทรายเหลือง” ทั้งการเพาะเมล็ด การปลูกกาแฟ การเก็บเชอรี่ การสีเมล็ด การตาก การตำกะเทาะเมล็ดกะลา การคั่วแบบชาวบ้าน การบด จนถึงการชง เพื่อให้เห็นกระบวนการของกาแฟ ที่ชุมชนสามารถทำได้ และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากกาแฟพันธุ์อราบิก้าที่ปลูกบนพื้นที่สูงนั้น นอกจากจะได้รสชาติกาแฟที่ดีแล้ว ยังเป็นการปลูกใต้ร่มไม้ เป็นการสนองแนวพระราชดำริ ในเรื่องการสร้างป่าสร้างรายได้ ถือว่าสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนในระยะยาวเป็นอย่างดี ทั้งความยั่งยืนในชีวิตความเป็นอยู่ รายได้ และป่าไม้ โดยอาศัยกลไกของ “ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงบ้านห้วยทรายเหลือง” เป็นแหล่งเรียนรู้และศูนย์กลางการผลิตเมล็ดกาแฟ
เราจิบกาแฟที่คั่วเอง บดเอง และชงเอง … ไปหลายถ้วย ท่ามกลางอากาศหนาว ห้อมล้อมด้วยขุนเขา ต้นไม้ ป่ากาแฟ บ้านชาวเขา ชาวชุมชน และเด็กๆ ที่มาร่วมกิจกรรม รู้สึกปลาบปลื้มใจ หัวใจพองโตอย่างบอกไม่ถูก
น่าดีใจที่การนำชุมชนเข้าเรียนรู้กระบวนการปลูกกาแฟในครั้งนี้ ทำให้ชาวชุมชนที่ไม่เคยสนใจและไม่คิดจะปลูกกาแฟ ได้ตกลงที่จะปลูกกาแฟในที่ดินของตนเอง และยิ่งดีใจที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ลูกหลานสืบทอดการปลูกกาแฟ ควบคู่ไปกับการปลูกข้าวและการเกษตรอื่นๆ เพราะเห็นแนวทางที่จะสร้างรายได้พร้อมกับการดูแลรักษาป่าไปด้วย
ก่อนจาก “ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงบ้านห้วยทรายเหลือง” เรามอบโต๊ะ เก้าอี้ ชั้นวางและหนังสือ พร้อมกับอุปกรณ์การเรียนการสอนให้กับเด็กๆ ใช้ในการเรียนรู้ และยังมอบกองทุนศูนย์เรียนรู้กระบวนการผลิตกาแฟ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการดำเนินงานด้านกาแฟเพื่อความยั่งยืนกับชุมชนต่อไป และให้คำสัญญาว่าจะกลับมาเยือนติดตามผลด้วย
ไม่อยากจากมา แต่การเป็น #นักเดินทางเพื่อสังคม ที่ดี ต้องเดินออกมาจากเป้าหมายที่เข้าไป ต้องถอยออกมาและปล่อยให้กลไกชุมชนดำเนินต่อไปด้วยคนในชุมชนเอง เราในฐานะผู้ไปเยือนเพียงแค่คอยดูอยู่ห่างๆ และติดตามผลตามระยะเวลา ซึ่งไม่ใช่การละทิ้ง แต่เป็นการผูกพันตามแนวทางการพัฒนาจริงๆ แล้วความยั่งยืนของชุมชนก็จะเกิดขึ้นเอง
ขอขอบคุณผู้สนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้